
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมอาหารสุขภาพ (ศนอ.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) เพิ่มมูลค่าสมุนไพร “ใบเตย” โดยการวิจัยและพัฒนาเป็น “สารสกัด” นำไปต่อยอดใช้ประโยชน์ในระดับกึ่งอุตสาหกรรม เพื่อช่วยเสริมสุขภาพในระบบกระดูกและข้อ สำหรับสังคมก่อนและสูงวัย มุ่งเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค พร้อมเสริมแกร่งผู้ประกอบการด้วยผลงานมาตรฐานสากล
ผศ.ดร.วีรชัย อาจหาญ ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า วว. โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมอาหารสุขภาพ ดำเนิน “โครงการพัฒนาสารออกฤทธิ์เชิงหน้าที่สำหรับนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ฟังก์ชัน เพื่อเสริมสุขภาพในระบบกระดูกและข้อ สำหรับสังคมก่อนและสูงวัย” ประสบผลสำเร็จในการวิจัยและพัฒนา “ต้นแบบสารสกัดใบเตยจากการผลิตในระดับกึ่งอุตสาหกรรม” ที่มีประสิทธิภาพในระดับห้องปฏิบัติการต่อภาวะโรคเก๊าต์
“ใบเตย” มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pandanus amaryllifolius เป็นไม้ยืนต้นพุ่มเล็ก ขึ้นเป็นกอ ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับเวียนเป็นเกลียวขึ้นไปจนถึงยอด ใบเป็นทางยาว สีเข้ม เป็นมันเผือก ขอบใบเรียบ ใบเตยมีสารเคมีธรรมชาติอยู่หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นฟลาโวนอยด์ สารจำพวกฟีนอล น้ำมันหอมระเหยไฟทอล และสควาลีน ซึ่งเป็นสารที่อาจเป็นประโยชน์ต่อร่างกายได้ในหลายๆ ด้าน
จากผลการทดสอบประสิทธิภาพของสารสกัดจากใบเตยหอมต่อการลดกรดยูริกในเลือดพบว่า เมื่อหนูทดลองได้รับสารสกัดจากใบเตยหอมที่ปริมาณ 500, 1000 และ 2000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัวหนู เป็นระยะเวลานาน 14 วัน มีระดับกรดยูริกลดลง การขับทิ้งทางปัสสาวะเพิ่มขึ้น และมีไขมันในตับลดลง มีความปลอดภัยทั้งการทดสอบแบบเฉียบพลัน (acute toxicity) และแบบกึ่งเรื้อรัง (sub-chronic toxicity) พบว่า มีค่า LD50 มากกว่า 2,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัมน้ำหนักตัวสัตว์ และมีเกณฑ์จําแนกความปลอดภัยตามระบบการจัดกลุ่มสารเคมี และการติดฉลากของวัสดุทดสอบตามหลักเกณฑ์ของ GHS ที่ระดับ 5 (Category 5) หรือ Unclassified ผ่านการผลิตในระดับกึ่งอุตสาหกรรม โดยใช้วัตถุดิบผงใบเตยเริ่มต้นที่ 30 กิโลกรัม ได้ร้อยละผลผลิตเท่ากับ 8.73 หรือ 2.62 กิโลกรัม มีปริมาณสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ 2AP (2-Acetyl-1-Pyrroline) อยู่ในช่วง 2.79-7.49 mg/kg โดยผ่านมาตรฐานการผลิตอาหารทั้งด้านจุลินทรีย์และโลหะหนัก นอกจากการพัฒนาต้นแบบสารสกัดใบเตยดังกล่าวแล้ว วว. ยังได้ต่อยอดการใช้ประโยชน์จากสารสกัด โดยพัฒนาเป็น “ต้นแบบผลิตภัณฑ์กัมมี่เยลลี่เสริมสารสกัดจากใบเตย” และยังได้เสริมน้ำมันงาดำสกัดเย็นซึ่งมีประสิทธิภาพที่ดีต่อระบบข้อในผลิตภัณฑ์และลดปริมาณน้ำตาลลงจากสูตรปกติด้วย จึงเหมาะสำหรับผู้บริโภคที่ต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สะดวกต่อการพกพา และสามารถรับประทานได้ในระหว่างวัน เคี้ยวเพลิน ช่วยผ่อนคลาย
“…การพัฒนาและเพิ่มมูลค่าสารสกัดใบเตย เป็นหนึ่งในผลงานที่เป็นรูปธรรมของ วว. ตามกรอบการดำเนินงานขององค์กรในกลยุทธ์ที่ 1 S : Science Technology and Innovation ที่มุ่งเร่งสร้างผลงานวิจัย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพี่อตอบโจทย์ประเทศ ในขอบข่ายอุตสาหกรรมแห่งอนาคตด้านเกษตรและอาหาร รวมทั้งสุขภาพและการแพทย์ โดย วว. พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เชิงพาณิชย์ ซึ่งจะสร้างความยั่งยืนให้พี่น้องเกษตรกรและผู้ประกอบการต่อไป…” ผู้ว่าการ วว. กล่าว