แอสตร้าเซนเนก้า เผยความสำเร็จในการใช้ AI คัดกรองมะเร็งปอดจากภาพเอกซเรย์ เสริมความมั่นคงด้านสุขภาพที่ยั่งยืน

จากสถิติองค์การอนามัยโลกพบว่ามะเร็งปอดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของโลก โดยมีผู้ป่วยรายใหม่ถึง 2.5 ล้านรายและผู้เสียชีวิตประมาณ 1.8 ล้านรายต่อปี ในประเทศไทย มะเร็งปอดเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับสอง โดยมีผู้ป่วยรายใหม่ถึง 17,222 รายต่อปี หรือเฉลี่ยผู้เสียชีวิตจากมะเร็งปอดวันละ 40 คน



เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ในงานประชุม European Lung Cancer Congress (ELCC) 2025 ที่จัดขึ้น ณ กรุงปารีส แอสตร้าเซนเนก้าได้เปิดเผยผลการวิจัยเกี่ยวกับมะเร็งปอดภายใต้โครงการ CREATE ที่มีการใช้เครื่องมือ qXR-LNMS ซึ่งพัฒนาโดยบริษัท Qure.ai เพื่อแสดงประสิทธิภาพในการคัดกรองมะเร็งปอดจากภาพเอกซเรย์ทรวงอกซึ่งอาศัยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นเครื่องมือช่วย โดยนวัตกรรมนี้ช่วยขยายโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการตรวจคัดกรองและการวินิจฉัยโรคด้วยวิธีที่ทันสมัยและมีความสะดวก


โครงการ CREATE ได้ศึกษาประสิทธิภาพในการคัดกรองมะเร็งปอดใน 5 ประเทศ ได้แก่ อียิปต์ อินเดีย อินโดนีเซีย เม็กซิโก และตุรกี โดยมีผู้เข้าร่วมจำนวน 700 ราย ผลการศึกษาพบว่าค่าความแม่นยำของ Positive Predictive Value (PPV) อยู่ที่ร้อยละ 54.1 ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้เป็นจำนวน 20% ส่วน Negative Predictive Value (NPV) อยู่ที่ร้อยละ 93.5 ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้เป็นจำนวน 70% ผลการศึกษามีความสอดคล้องกันทุกกลุ่มประชากร ซึ่งรวมถึงผู้ที่ไม่เคยสูบบุหรี่และบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 55 ปี ซึ่งโดยทั่วไปไม่ได้อยู่ในเกณฑ์การตรวจคัดกรองมะเร็งปอด


นอกจากนี้ ยังมีการเผยแพร่แบบจำลองการวิเคราะห์ผลกระทบด้านงบประมาณของโครงการ CREATE โดยอ้างอิงจากการใช้ข้อมูลในประเทศเวียดนามมาเป็นกรณีศึกษาต้นแบบ ซึ่งพบว่าการใช้ AI ร่วมกับการเอกซเรย์ทรวงอก นั้น สามารถนำมาปฏิบัติใช้เป็นขั้นตอนเบื้องต้นก่อนการทำการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ด้วยปริมาณรังสีต่ำ (Low Dose CT : LDCT) ในบริบทของสภาพแวดล้อมที่มีทรัพยากรจำกัด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของโปรแกรมการคัดกรองโดยเฉพาะในกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูง จากผลการศึกษานี้ยังพบว่าการนำ AI มาใช้ในกระบวนการคัดกรองมะเร็งปอดสามารถช่วยในการตรวจพบมะเร็งปอดได้ตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม นำไปสู่การลดลงของค่าใช้จ่ายในกระบวนการรักษาได้


พญ. วาสนา ประสิทธิ์สืบสาย ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย และ Frontier Markets เปิดเผยว่า “แอสตร้าเซนเนก้าได้ร่วมมือกับ Qure.ai ตั้งแต่ปี 2565 ภายใต้โครงการ Lung Ambition Alliance โดยนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ qXR-LNMS มาใช้ในการคัดกรองสัญญาณเริ่มต้นของมะเร็งปอด โครงการนี้มีเป้าหมายในการตรวจคัดกรองประชากรกว่า 1 ล้านคนภายในปี 2569 ปัจจุบัน เราได้ดำเนินการคัดกรองแล้วกว่า 5 แสน คน และมีอัตราการตรวจพบมะเร็งปอดที่ 0.1% ข้อมูลจากการศึกษา CREATE แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของการใช้ AI ที่สามารถแพร่หลายได้ง่าย ต้นทุนต่ำ และสามารถประยุกต์ใช้ในระบบสาธารณสุขเพื่อยกระดับการเข้าถึงการดูแลสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ”


นพ. ภาสกร วันชัยจิระบุญ อายุรแพทย์มะเร็งวิทยา ผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และนวัตกรรมทางการแพทย์ โรงพยาบาลพระปกเกล้า เปิดเผยว่า “แม้ว่าแนวทางมาตรฐานในการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดจะแนะนำให้ใช้การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบปริมาณรังสีต่ำ แต่ประเทศไทยยังคงเผชิญกับข้อจำกัดด้านต้นทุนสูงและการเข้าถึงที่จำกัด การมีเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่เสริมการตรวจภาพเอกซ์เรย์ทรวงอก สามารถเพิ่มการเข้าถึงการคัดกรองมะเร็งปอดในบริบทของประเทศที่มีทรัพยากรจำกัดได้ อย่างไรก็ตาม การนำ AI มาใช้นั้นจำเป็นต้องมาพร้อมกับความเข้าใจจากผู้ใช้ รวมถึงการวิจัยและปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด”


การตรวจสุขภาพและการคัดกรองโรคอย่างสม่ำเสมอมีความสำคัญอย่างยิ่งในการลดความเสี่ยงจากโรคต่าง ๆ และยังช่วยเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชากรไทย การมีนวัตกรรมที่เข้าถึงได้ง่ายและมีประสิทธิภาพสูง ถือเป็นหัวใจสำคัญในการยกระดับการวินิจฉัยโรคให้มีความรวดเร็วและแม่นยำ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาโรค เช่น มะเร็งปอด ให้กับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิผล