สถาบันประสาทวิทยาโชว์ 'นวัตกรรมหุ่นยนต์กล้องผ่าตัด' ความแม่นยำสูง ลดความเสี่ยง

กรมการแพทย์ โดยสถาบันประสาทวิทยา เผย เทคโนโลยีในการผ่าตัดที่มีความแม่นยำสูงด้วยการใช้หุ่นยนต์กล้องผ่าตัด (Robotic Exoscope) เพื่อช่วยในการผ่าตัดผู้ป่วยภาวะโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทและสมองทำให้การรักษามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ช่วยลดความเสี่ยงจากการผ่าตัดแบบดั้งเดิม อีกทั้งยังช่วยให้การทำงานของแพทย์สะดวกสบายในการรักษา


นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์
เป็นสถาบันชั้นนำด้านวิชาการและบริการโรคระบบประสาทของประเทศ ได้พัฒนาระบบเทคโนโลยีทางการแพทย์ชั้นสูงโดยการนำหุ่นยนต์กล้องผ่าตัดเพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงการรักษาที่ทันสมัยปลอดภัยการใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์กล้องผ่าตัดเป็นก้าวสำคัญในการรักษาโรคระบบประสาทและสมอง โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวข้องกับสมองและไขสันหลัง ซึ่งมี


ความละเอียดและซับซ้อนสูง จึงต้องใช้หุ่นยนต์กล้องผ่าตัดช่วยเพิ่มความแม่นยำในการผ่าตัดช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อ ลดความเสี่ยงของเลือดออกมาก และลดข้อผิดพลาดในการผ่าตัด ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้เร็ว


ว่าที่ ร.ต.ท.หญิง พญ.นภา ศิริวิวัฒนากุล ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สถาบันประสาทวิทยามีหุ่นยนต์สำหรับผ่าตัดสมองแล้ว ยังมีหุ่นยนต์กล้องผ่าตัดอีก 1 เครื่อง หุ่นยนต์กล้องผ่าตัด (Robotic Exoscope) คือ เครื่องมือช่วยผ่าตัด ที่ทำหน้าที่หลักอยู่ 2 ประการ ประการที่ 1 เป็นกล้องสำหรับผ่าตัด ที่มีความละเอียดสูงในการถ่ายทอดภาพจากมุมมองที่ทำการผ่าตัดออกจอมอนิเตอร์ความละเอียดขนาด 4K และเป็นภาพ 3 มิติ ซึ่งศัลยแพทย์ไม่จำเป็นต้องก้มหน้าหรือเอียงคอมองกล้องในขณะผ่าตัดซึ่งอาจจะทำให้ศัลยแพทย์มีอาการ ปวดเมื่อยล้าคอหลังจากการผ่าตัดนาน ๆ หลายชั่วโมง อีกทั้งผู้ช่วยศัลยแพทย์หรือพยาบาลส่งเครื่องมือผ่าตัดสามารถมองเห็นภาพจากการผ่าตัดแบบ 3 มิติได้เหมือนศัลยแพทย์ ซึ่งโดยปกติส่วนใหญ่จะไม่เห็นภาพการผ่าตัดในขณะศัลยแพทย์กำลังทำการผ่าตัดหรือภาพที่เห็นจากการถ่ายทอดออกจากกล้องผ่าตัดจะเป็นภาพ 2 มิติ และความละเอียดหรือความคมชัดของภาพที่เห็น จะอยู่ที่กล้องผ่าตัดที่ส่งสัญญาณภาพออกมาว่ามีความละเอียดเท่าใด แต่การใช้หุ่นยนต์กล้องผ่าตัดนี้ ผู้ช่วยศัลยแพทย์หรือพยาบาลส่งเครื่องมือผ่าตัด สามารถเข้าใจการผ่าตัด ได้ดียิ่งขึ้นเพราะ การมองเห็น ในจอมอนิเตอร์ของเครื่องหุ่นยนต์กล้องผ่าตัดผ่านเป็นภาพ 3 มิติ ซึ่งจะเห็นได้ชัดเท่าเทียมเหมือนการมองเห็น ของศัลยแพทย์ ที่ทำการผ่าตัดในขณะนั้น ประการที่ 2 หุ่นยนต์กล้องผ่าตัดสามารถเคลื่อนไหว ปรับทิศทางการมองของกล้องได้อย่างอัตโนมัติ ตามความต้องการ และทิศทางในการมองขณะผ่าตัดของศัลยแพทย์ โดยที่ศัลยแพทย์ไม่ต้องวางมือจากเครื่องมือ ที่ใช้ในการผ่าตัด เพื่อมาปรับทิศทางของกล้อง รวมถึงการโฟกัสภาพให้ชัดเจนได้อย่างอัตโนมัติเช่นกัน ทำให้ศัลยแพทย์ มองเห็นภาพในการผ่าตัดได้ชัดเจนยิ่งขึ้น นอกจากนี้การปรับมุมกล้อง ของหุ่นยนต์กล้องผ่าตัด สามารถทำได้รวดเร็วมาก และ เร็วกว่าการปรับมุมกล้องโดยใช้มือ ของศัลยแพทย์ ด้วยเหตุผลทั้ง 2 ประการนี้ การใช้เครื่องหุ่นยนต์กล้องผ่าตัด ของสถาบันประสาทวิทยา ช่วยทำให้การผ่าตัด สมองและ เส้นประสาทไขสันหลัง สามารถผ่าตัดได้อย่าง ราบรื่น และปลอดภัยมากยิ่งขึ้น โดยปัจจุบันสถาบันประสาทวิทยาใช้หุ่นยนต์กล้องผ่าตัดในการผ่าตัดแล้วจำนวน 73 ราย


 


ข้อมูลโดย นายแพทย์ธีระ ตั้งวิริยะไพบูลย์
29 เมษายน 2568