
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อการพัฒนาต้นแบบสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยอายุ 3 ขวบปีแรก วันที่ 28 – 30 เมษายน 2568 ณ โรงแรมริเวอร์ไรน์เพลส โฮเทล แอนด์ เรสซิเดนซ์ จังหวัดนนทบุรี โดยมี ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคีเครือข่ายด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย เข้าร่วมประชุม
นายแพทย์ปกรณ์ ตุงคะเสรีรักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวเปิดการประชุมว่า เด็กปฐมวัยในช่วง0-3 ปี ถือเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า และเป็นช่วงวัยทองของการพัฒนาในทุกด้าน การวางรากฐานที่ดีจึงเป็นการเตรียมความพร้อมและสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพ การพัฒนาจะเกิดขึ้นจากปฏิสัมพันธ์ที่มีคุณภาพระหว่างผู้ดูแลกับเด็ก โดยเน้นศักยภาพและความต้องการของทั้งสองฝ่าย ซึ่งเป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องมีความรู้ความเข้าใจและร่วมมือกันส่งเสริมสุขภาวะที่ดีและส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการสมวัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย และ คาดหวังอยากเห็นเด็กปฐมวัยไทยให้มีคุณสมบัติสำคัญ 5 ประการ ประกอบด้วย 1) เรียนรู้ 2)ร่าเริง 3) รับผิดชอบ 4) ร่วมมือ และ 5) รักการเล่น “ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและมีอัตราการเกิดน้อยลง ทำให้เด็กอาจได้รับการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม เช่น การใช้สื่อเลี้ยงเด็ก หรือการเข้ารับการดูแลในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยที่ไม่ได้มาตรฐาน กรมอนามัยจึงได้ร่วมมือกับมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย จัดทำหลักสูตรสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยอายุต่ำกว่า 3 ปี ตามกรอบแนวคิดการดูแลอย่างเอาใจใส่ ขององค์การอนามัยโลก ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญ 5 ประการ ได้แก่ 1) การมีสุขภาพที่ดี 2) การได้รับอาหารอย่างพอเพียง 3) ความปลอดภัยและความมั่นคง 4) การสนองตอบความต้องการของทารก และ 5) โอกาสในการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาศักยภาพของเด็ก เพื่อจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการดูแลเด็กปฐมวัยทุกสังกัดทั่วประเทศ” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
แพทย์หญิงศิริพร กัญชนะ ประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมารดาจำนวนมากต้องกลับไปทำงานหลังลาคลอด ทำให้โอกาสในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และการดูแลอย่างใกล้ชิดลดลง เด็กจึงถูกส่งไปเลี้ยงดูโดยญาติ หรือสถานรับเลี้ยงเด็ก จากรายงานของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปี 2565 พบว่า มีสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย (0-6 ปี) จำนวน 51,360 แห่ง มีเด็กเพียง 2,275,100 คน ที่เข้าถึงสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุ 2 ปีครึ่งขึ้นไป มีสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยอายุต่ำกว่า 2 ปีครึ่ง น้อยมากไม่ถึง 1,000 แห่ง ซึ่งไม่เพียงพอกับความต้องการของสังคมในปัจจุบัน มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย จึงได้ร่วมมือกับกรมอนามัย และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม พัฒนาต้นแบบศูนย์เด็กปฐมวัยอายุ 3 ขวบปีแรก มาตั้งแต่ปี 2561 และ ต่อมา พ.ศ. 2563 ขยายผลต้นแบบเพิ่มอีก 6 แห่ง จากการดำเนินงานที่ผ่านมายังพบข้อจำกัดในการ ดำเนินงานของสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ในการจัดทำหลักสูตรการจัดกิจกรรมดูแลเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี ในปี 2568 มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย จึงได้ร่วมกับกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พัฒนาหลักสูตรสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยอายุต่ำกว่า 3 ปี
“สำหรับการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมพิจารณาและให้ข้อเสนอแนะต่อร่างหลักสูตรสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยอายุต่ำกว่า 3 ปี ที่คณะทำงานซึ่งกรมอนามัยได้แต่งตั้งขึ้น จะนำไปปรับปรุงให้มีความสมบูรณ์และเป็นหลักสูตรตัวอย่างให้สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยทุกสังกัดนำไปใช้ในการออกแบบและจัดทำหลักสูตรเพื่อให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติต่อไป” แพทย์หญิงศิริพร กล่าว