
กรมอนามัยห่วงใย เตือนประชาชนให้ระมัดระวังการกินอาหารในช่วงหน้าร้อนเป็นพิเศษ เพราะเสี่ยงต่อโรคท้องเสียท้องร่วง พร้อมแนะนำ 5 วิธีปฏิบัติที่ทำได้ง่ายๆ เพื่อป้องกันให้ปลอดภัยจากอาการไม่สบายท้องในช่วงอากาศร้อน
นายแพทย์ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานการณ์โรคอุจจาระร่วงยังคงน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนที่พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับรายงานจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปาง ที่แจ้งเตือนประชาชนให้เฝ้าระวังโรคอาหารเป็นพิษในช่วงนี้ ที่พบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงในจังหวัดลำปางแล้วจำนวน 3,237 ราย หรือคิดเป็นอัตราป่วย 460.84 ต่อประชากรแสนคน (ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 25 เมษายน 2568) สาเหตุหลักคาดว่าอาจมาจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด ทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตได้เร็ว อาหารจึงบูดเสียง่าย และเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อโรคในอาหาร น้ำดื่ม น้ำแข็ง หรือบริเวณที่ไม่สะอาดอื่น ๆ ได้มากขึ้น
ดร.ทนพญ.ยุพิน โจ้แปง ผู้อำนวยการสำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กล่าวว่า “โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน” หรือที่เรารู้จักกันดีว่า “โรคท้องเสียท้องร่วง” สามารถติดต่อได้ง่ายผ่านการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่ไม่สะอาด การสัมผัสสิ่งปนเปื้อน หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่สุขาภิบาลไม่ดี จากสถานการณ์โรคในช่วงหน้าร้อน กรมอนามัยมีความห่วงใยประชาชน เนื่องจากอากาศร้อนทำให้อาหารบูดเสียง่าย เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคท้องเสียท้องร่วง จึงขอเน้นย้ำให้ประชาชนป้องกันตนเองด้วย 5 ข้อแนะนำง่าย ๆ ดังนี้ 1) กินอาหารปรุงสุกใหม่ หลีกเลี่ยงอาหารดิบหรือหมักดอง ใช้ช้อนกลางเมื่อตักอาหาร เลือกกินน้ำแข็งที่สะอาด และเลือกร้านอาหารที่ได้มาตรฐาน “SAN” 2) ล้างมือให้สะอาด ด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ทุกครั้งก่อนปรุงอาหาร ก่อนกินอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ หรือหลังสัมผัสสิ่งสกปรก 3) ดื่มน้ำสะอาด ปลอดภัย และได้มาตรฐาน เลือกซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดที่มีเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน 4) ดูแลความสะอาดในบ้านและสิ่งแวดล้อมรอบตัว รวมถึงจัดการขยะมูลฝอยอย่างถูกสุขลักษณะ 5) หากมีอาการท้องเสียเฉียบพลัน เช่น ถ่ายบ่อย อ่อนเพลีย หรือสงสัยว่าร่างกายขาดน้ำ ให้ดื่มผงเกลือแร่ทันที หากอาการไม่ดีขึ้นควรรีบไปพบแพทย์
ภิญญาพัชญ์ จุลสุข ผู้อำนวยการกองอนามัยฉุกเฉิน กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมอนามัย จึงขอความร่วมมือหน่วยงานสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งกำหนดมาตรการควบคุม กำกับ การจัดการด้านสุขาภิบาลและสุขอนามัยในสถานที่เสี่ยง พร้อมเฝ้าระวังเชิงรุกในพื้นที่รับผิดชอบ อาทิ ร้านจำหน่ายอาหาร โรงเรียน สถานประกอบการ หรือแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ปฏิบัติตามมาตรการด้านส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม ดังนี้ 1) ตรวจประเมิน เฝ้าระวังการประกอบปรุงของร้านอาหารสถานประกอบการผลิต หรือจำหน่ายอาหารให้เป็นสุขลักษณะ ได้แก่ การตรวจสอบการปนเปื้อนเชื้อโรคในอาหาร น้ำ น้ำแข็ง ผู้ประกอบปรุงประกอบอาหารและผู้สัมผัสอาหาร หากพบปัญหาให้รีบดำเนินการแก้ไข 2) ประสานหน่วยงานส่วนท้องถิ่นในการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข ควบคุม กำกับ สถานประกอบการจำหน่ายอาหาร 3) ให้คำแนะนำในการดูแล ควบคุม กำกับ การจัดการกระบวนการแหล่งผลิตอาหารและน้ำดื่มน้ำใช้ให้มีความสะอาด มีการฆ่าเชื้อโรคในพื้นที่เสี่ยงการปนเปื้อนเชื้อโรค การดูแลส้วมให้สะอาด รวมทั้งดูแลสุขอนามัยที่ดีของพนักงาน เจ้าหน้าที่ ผู้ปรุงประกอบอาหาร หรือผู้ที่มีการสัมผัสอาหารและน้ำดื่ม และ 4) สื่อสาร สร้างการรับรู้แก่ประชาชน เลือกซื้อกินอาหารที่ได้มาตรฐาน สะอาด ปลอดภัย และปฏิบัติตามมาตรการ “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” อย่างเคร่งครัด ลดความเสี่ยงสุขภาพของประชาชน หากประชาชนมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ 1478 สายด่วนกรมอนามัย