โครงการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เฉพาะทางโรคมะเร็ง 80 ปี กรมการแพทย์ จังหวัดแม่ฮ่องสอน

กรมการแพทย์

อธิบดีกรมการแพทย์ และคณะผู้บริหารกรมการแพทย์ตรวจเยี่ยม โครงการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เฉพาะทางโรคมะเร็ง 80 ปี กรมการแพทย์ จัดโดยโรงพยาบาลมะเร็งลำปาง ณ โรงพยาบาลศรีสังวาลย์ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ณ วันที่ 16 ธันวาคม 2564 เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ ภายใต้แนวคิด “ทำดีที่สุด เพื่อทุกชีวิต”
          นายแพทย์สมศักดิ์  อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์  เปิดเผยว่า โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงเป็น 1 ใน 5 ของมะเร็งที่พบมากในคนไทย เริ่มจากการเกิดติ่งเนื้อในลำไส้ (polyp) และพัฒนาจนเป็นมะเร็งใช้ระยะเวลาประมาณ 10-15 ปี โดยทั่วไปในระยะเริ่มแรกมักจะไม่มีอาการ ซึ่งจะพบอาการก็ต่อเมื่อโรคลุกลามมากขึ้น ส่งผลทำให้การรักษาได้ผลไม่ดีเท่าที่ควร อย่างไรก็ตามมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงเป็นมะเร็งที่สามารถตรวจคัดกรองเพื่อค้นหามะเร็งในระยะเริ่มแรกได้ ทำให้การรักษาได้ผลดีและมีโอกาสหายจากโรคสูง

          นายแพทย์วีรวัต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็งลำปาง  กล่าวรายงานว่า ในปัจจุบันมีการตรวจเม็ดเลือดแดงแฝงในอุจจาระด้วยวิธี Fecal Immunochemical Test (FIT) กรณีผลผิดปกติควรได้รับการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy)เพื่อวินิจฉัยต่อไป อย่างไรก็ตามด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้มีปัญหาในการเข้าถึงบริการในบางพื้นที่ อาทิเช่น จังหวัดแม่ฮ่องสอน โรงพยาบาลมะเร็งลำปางเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ จึงได้จัด โครงการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เฉพาะทางโรคมะเร็ง 80 ปี กรมการแพทย์ นำทีมโดยนายแพทย์ถาวรัฐ เรือนโรจน์รุ่ง รองผู้อำนวยการด้านการพัฒนาระบบสุขภาพ พร้อมคณะ ได้ทำการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ ณ โรงพยาบาลศรีสังวาลย์ จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีผู้ป่วยผลการตรวจ FIT ให้ ผลบวกจำนวน 10 ราย ในจำนวนนี้พบติ่งเนื้อซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง จำนวน 3 ราย และเป็นผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะเริ่มแรกจำนวน 1ราย ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสในการเข้าถึงการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรกและมีโอกาสหายจากโรคสูง