
วันที่ 14 กรกฎาคม 2568 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาควบคุมพิเศษ ฉบับที่ 57 ลงนามโดย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประกาศ ณ วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2568 มีเนื้อหาดังนี้
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 76 (4) แห่งพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยา (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2522 และมาตรา 78 แห่งพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยคำแนะนำของคณะกรรมการยา ในการประชุมครั้งที่ 421-5/2567 เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2567 จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วันนับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ 2 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (99) ของข้อ 3 แห่งประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาควบคุมพิเศษ ลงวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2521
“(99) ยาทรามาดอล (Tramadol) ตำรับยาเดี่ยว ชนิดรับประทาน”
-----------------------------------------------------------------------------------------
นายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ยาทรามาดอล (tramadol) เป็นยาแก้ปวดในกลุ่มโอปิออยด์ (Opioids) ออกฤทธิ์เหมือนมอร์ฟีน จึงเสี่ยงต่อการเสพติดได้ โดยในปัจจุบันพบกลุ่มเด็กและเยาวชนมักนำไปใช้ในทางที่ผิดซึ่งใช้ผสมกับยาแก้ไอ น้ำอัดลม น้ำต้มกระท่อม และวัตถุออกฤทธิ์อื่น ๆ เพื่อให้เกิดอาการมึนเมา สนุกสนาน โดยเรียกว่า “ยาเขียวเหลือง”
ยาเขียวเหลืองเป็นยาแคปซูลชนิดรับประทานสูตรยาเดี่ยว ในทางการแพทย์ใช้บำบัดอาการปวดระดับปานกลางถึงรุนแรง โดยร่างกายสามารถรับได้ในปริมาณสูงสุดไม่เกิน 400 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งยามีผลข้างเคียงเช่น คลื่นไส้ อาเจียน มึนงง ง่วงซึม ปวดศรีษะ มือสั่น ใจสั่น ประสาทหลอน เป็นต้น หากได้รับยาในปริมาณสูงตั้งแต่ 500 มิลลิกรัม หรือ 10 แคปซูลขึ้นไปจะเกิดอาการรุนแรง เช่น ชัก ไข้สูง กล้ามเนื้อสลาย ลิ่มเลือดกระจายในหลอดเลือด ไตวายเฉียบพลัน และอาจเสียชีวิตได้