
สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KMITL) จัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการ โดยมีเป้าหมายในการบูรณาการองค์ความรู้ด้านการแพทย์และวิศวกรรม เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ระบบสาธารณสุขไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการตรวจคัดกรองและวินิจฉัยโรคมะเร็งอย่างมีประสิทธิภาพ
วันนี้ (24 กรกฎาคม 2568) ที่ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร เรืออากาศเอกสมชาย ธนะสิทธิชัย ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ และรองศาสตราจารย์ ดร.สมยศ เกียรติวนิชวิไล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ KMITL ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการ โดยมีนายแพทย์ธนะรัตน์ อิ่มสุวรรณศรี รองผู้อำนวยการด้านวิชาการและแพทยศาสตรศึกษา สถาบันมะเร็งแห่งชาติ รองศาสตราจารย์ ดร.วิบูลย์ ปิยวัฒนเมธา ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ KMITL และคณะผู้บริหารจากทั้งสองหน่วยงาน ร่วมเป็นสักขีพยาน
เรืออากาศเอกสมชาย ธนะสิทธิชัย ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า “ประเทศไทยยังคงเผชิญกับปัญหาเชิงระบบในการให้บริการตรวจคัดกรองและวินิจฉัยโรคมะเร็งโดยเฉพาะมะเร็งในสตรี เช่น มะเร็งเต้านม ซึ่งมีอุบัติการณ์สูงแต่ทรัพยากรที่มีอยู่ ยังไม่เพียงพอ ทั้งบุคลากร เครื่องมือและเทคโนโลยี หลายระบบยังจำเป็นต้องพึ่งพาปัญญาประดิษฐ์ (AI) ทางการแพทย์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งมีต้นทุนสูงและไม่ตอบโจทย์บริบทของประเทศไทย ขณะที่มะเร็งปากมดลูกแม้จะมีการจัดบริการที่ครอบคลุมมากขึ้น แต่ยังคงขาดเทคโนโลยีสนับสนุนด้านการวิเคราะห์ภาพ เช่น ภาพแป๊ปสเมียร์และโคลโปสโคปี ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเพิ่มความแม่นยำ ในการวินิจฉัย ความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นต้นแบบของการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ยั่งยืน สามารถขยายผลได้ในอนาคต และนำไปสู่การให้บริการที่ครอบคลุมและแม่นยำยิ่งขึ้นทั้งในเขตเมืองและพื้นที่ห่างไกล”
รองศาสตราจารย์ ดร.สมยศ เกียรติวนิชวิไล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ KMITL กล่าวว่า “การร่วมมือในครั้งนี้เป็นการนำความเชี่ยวชาญของนวัตกรรมทางวิศวกรรมของ KMITL ในด้านชีวภาพโฟโตนิกส์และปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาผสานกับความเชี่ยวชาญทางคลินิกของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ เพื่อสร้างเทคโนโลยีที่มีต้นทุนต่ำ เข้าถึงได้ง่าย และสามารถนำไปใช้ได้จริงในระบบบริการสุขภาพของประเทศ”
ความร่วมมือในครั้งนี้เกิดจากวิสัยทัศน์ร่วมกันของทั้งสองหน่วยงาน ที่ต้องการส่งเสริมการนำนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้จริงในระบบบริการสุขภาพ โดยเฉพาะในการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งตั้งแต่ระยะแรกเพิ่มความแม่นยำ และลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ ซึ่งมีโครงการนำร่องสำคัญที่มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยี AI วิเคราะห์ข้อมูลจากการตรวจทางการแพทย์ ได้แก่ การพัฒนาซอฟต์แวร์ Deep Learning สำหรับวิเคราะห์ภาพจากการตรวจแป๊ปสเมียร์ (Pap Smear) เพื่อค้นหาเซลล์ผิดปกติที่อาจนำไปสู่โรคมะเร็งปากมดลูก, การประยุกต์ใช้ AI กับภาพถ่ายแมมโมแกรม (Mammogram) ตรวจหาก้อนหรือสิ่งผิดปกติในเต้านมที่อาจเป็นมะเร็ง, การใช้เทคโนโลยี Deep Learning วิเคราะห์ภาพจากกล้อง Colposcopy ดูความผิดปกติของปากมดลูกแบบขยายภาพ เพิ่มความแม่นยำในการวินิจฉัยและวางแผนการรักษา
นอกจากนั้นความร่วมมือนี้นับเป็นต้นแบบของการพัฒนา “เทคโนโลยีเพื่อประชาชน” ที่เน้นความยั่งยืน ขยายผลได้จริง และสามารถเข้าถึงได้ในราคาที่สมเหตุสมผล โดยมีเป้าหมายร่วมกันในการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย ผ่านการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งอย่างมีประสิทธิภาพ
24 กรกฎาคม 2568
