สธ.ให้ รพท./รพศ.เป็นตัวแทนสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ตรวจ DNA คนไทยไร้บัตรปชช.

คณะกรรมการ 7x7 เห็นชอบให้โรงพยาบาลทั่วไป/โรงพยาบาลศูนย์ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมเป็นตัวแทนสถาบันนิติวิทยาศาสตร์เก็บสิ่งส่งตรวจเพื่อพิสูจน์ DNA แก่คนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน พร้อมให้คณะทำงานระดับเขตเร่งสื่อสารประชาสัมพันธ์ในพื้นที่ ด้านเลขาธิการ สปสช.ชี้ ระบบนี้ช่วยให้ผู้มีปัญหาสถานะเก็บตัวอย่าง DNA ได้เลยในพื้นที่ ไม่ต้องเดินทางมาตรวจที่ส่วนกลาง ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางและช่วยให้กระบวนการขอบัตรประชาชนรวดเร็วขึ้น


นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกำหนดแนวทางการใช้จ่ายเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของหน่วยบริการสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขระดับประเทศ (คณะกรรมการ 7x7) ที่มี นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน ซึ่งประชุมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบในหลักการให้โรงพยาบาลทั่วไป/โรงพยาบาลศูนย์ ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมดำเนินการพิสูจน์อัตลักษณ์คนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน โดยเก็บตัวอย่างสิ่งส่งตรวจเพื่อส่งต่อให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ดำเนินการตรวจ DNA ต่อไป ส่วนกรณีพื้นที่ห่างไกล ให้เป็นบทบาทของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ในการดำเนินการตาม MOU ที่ได้ลงนามร่วมกันไว้


ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังมอบหมายให้คณะทำงานกำหนดแนวทางการใช้จ่ายเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของหน่วยบริการสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขระดับเขต (คณะทำงาน 5X5) ดำเนินการสื่อสารประชาสัมพันธ์แนวทางดังกล่าว และกำกับติดตามการดำเนินการของหน่วยบริการในพื้นที่ ตลอดจนรายงานผลการปฏิบัติให้คณะกรรมการ 7x7 รับทราบต่อไป


นพ.จเด็จ กล่าวว่า บทบาทของ สปสช. คือเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชนคนไทยอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม อย่างไรก็ดี ในอดีตที่ผ่านมายังมีคนไทยบางกลุ่มที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน ไม่มีบัตรประชาชน ทำให้เข้าไม่ถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพและสวัสดิการของรัฐอื่นๆได้ การมีบัตรประชาชนจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าถึงสิทธิต่างๆที่พึงได้รับ ซึ่งในขั้นตอนการออกบัตรประชาชนจะต้องมีการรวบรวมเอกสารหลักฐาน พยาน ตลอดจนพิสูจน์ DNA เพื่อยืนยันตัวบุคคลว่าเป็นคนไทยจริงๆ แต่ด้วยระบบเดิม ถ้ารอให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ออกหน่วยมาตรวจ DNA ให้ หรือให้ผู้มีปัญหาสถานะเดินทางมาตรวจที่ส่วนกลาง บางครั้งไม่ทันการณ์ ผู้ขอทำบัตรประชาชนบางรายก็เสียชีวิตจากการเจ็บป่วยไปเสียก่อน


อย่างไรก็ดี เมื่อเร็วๆนี้ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี ได้ร่วมมือกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ในการเป็นโรงพยาบาลนำร่องเก็บสิ่งส่งตรวจในพื้นที่ ซึ่งโมเดลดังกล่าวถือเป็นตัวอย่างที่ดี เพราะช่วยให้ผู้ที่ต้องการตรวจ DNA ไม่ต้องเดินทางมาตรวจที่ กทม. ลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางและทำให้กระบวนการรวดเร็วขึ้น ขณะเดียวกัน ในมุมของโรงพยาบาล เมื่อผู้มีปัญหาสิทธิสถานะได้รับบัตรประชาชน โรงพยาบาลก็สามารถเบิกค่าใช้จ่ายได้ตามระบบ ไม่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายส่วนนี้ด้วยตัวเองอีกต่อไป


"มีการคาดการณ์ว่าผู้มีปัญหาสถานะในไทยมีจำนวนประมาณ 1 ล้านคนทั่วประเทศ หลังจากที่ผมได้ไปเยี่ยมชมการดำเนินงานของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรก็เห็นว่าโมเดลนี้เป็นเรื่องที่ดี จึงได้นำเสนอคณะกรรมการ 7x7 เพื่อขยายผล โดยเริ่มจากโรงพยาบาลขนาดใหญ่ก่อน เราต้องเตรียมระบบให้พร้อม เมื่อใดที่เกิดปรากฏการณ์ว่ามีผู้มารับบริการแล้วไม่มีสิทธิการรักษาเนื่องจากไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร์ โรงพยาบาลก็ควรได้มีโอกาสให้สิทธิและได้รับการชดเชยค่าบริการอย่างที่ควรเป็น”นพ.จเด็จ กล่าว


ด้าน พ.ต.ท.เชน กาญจนาปัจจ์ รองผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า สถาบันนิติวิทยาศาสตร์มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมงานกับ สปสช. และโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรในการลดความเหลื่อมล้ำแก่ประชาชน ที่ผ่านมาสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ให้การช่วยเหลือในเรื่องการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลแก่ผู้มีปัญหาสถานะด้วยวิธีตรวจ DNA มาตั้งแต่ปี 2545 โดยแต่เดิมจะใช้วิธีตั้งรับที่ส่วนกลาง รวมทั้งการรวบรวมจำนวนผู้มีปัญหาสถานะในพื้นที่ให้ได้ประมาณ 40-50 คนแล้วส่งทีมงานลงไปตรวจ DNA ซึ่งวิธีนี้อาจใช้เวลานาน แต่การจัดระบบลักษณะนี้ โรงพยาบาลจะเป็นเสมือนเป็นตัวแทนของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์เก็บสิ่งส่งตรวจมาให้ จะทำให้ประหยัดเวลาและเข้าถึงเป้าหมายได้เร็วขึ้น ยิ่งถ้าสามารถขยายระบบนี้ไปได้ในหลายภูมิภาค จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำแก่กลุ่มเปราะบางที่มีปัญหาสถานะได้เป็นอย่างดี


“ขอให้มีการส่งตรวจเข้ามาเยอะๆ เรายินดีให้บริการ ส่วนเรื่องงบประมาณสำหรับการให้บริการ โดยปกติเรามีการจัดสรรงบยุทธศาสตร์สำหรับให้บริการตรวจ DNA ได้ประมาณ 1,600 คน/ปี แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ถูกปรับลดลงเหลือ 800 คน อย่างไรก็ตาม เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น คาดว่างบประมาณน่าจะทยอยกลับมาอยู่ที่ 1,600 รายเช่นเดิม แต่กรณีที่ปีนี้มีการส่งตรวจ DNA มากกว่า 800 ราย ก็จะพิจารณาเสนอของบกลางมาใช้ในการดำเนินงานต่อไป”พ.ต.ท.เชน กล่าว


ด้าน พญ.โศรยา ธรรมรักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า หน้าที่ของโรงพยาบาลคือการให้บริการประชาชนให้เข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาล โดยเฉพาะคนไทยต้องมีสิทธิ 100% การทำงานนี้ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เป็นเพียงจุดเล็กๆจุดหนึ่งในการอำนวยความสะดวกให้แพทย์ซึ่งมีหน้าที่รักษาผู้ป่วย ได้ทำการรักษาตามมาตรฐานวิชาชีพ ดังนั้นหากเรื่องนี้จะเป็นประโยชน์กับประเทศ ทางโรงพยาบาลก็ยินดีเป็นอย่างยิ่งในการเป็นต้นแบบในการดำเนินงาน