สปสช.ย้ำหลักการช่วยเหลือเบื้องต้นแพ้วัคซีนโควิด ไม่พิสูจน์ถูกผิดว่าสาเหตุเกิดจากวัคซีนหรือไม่ แต่ช่วยเหลือเพื่อบรรเทาผลกระทบ ดังนั้นจึงไม่สามารถนำผลการจ่ายเงินช่วยเหลือไปสรุปว่าเกิดจากวัคซีนโควิด-19 ได้
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะโฆษก สปสช. ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นผู้ที่เกิดภาวะไม่พึงประสงค์หลังรับฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ตามแผนงานโครงการที่รัฐจัดให้ฟรี เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในการรับบริการ โดยมอบให้ สปสช. เป็นหน่วยงานดำเนินการ และได้ออกประกาศ สปสช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2564 และให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 5 เม.ย. 2564 เป็นต้นไป
นั้น
ทพ.อรรถพร กล่าวว่า สปสช. ขอทำความเข้าใจกับประชาชนอีกครั้งว่า ระบบดังกล่าวเป็นระบบการชดเชยความเสียหายเบื้องต้น คำว่าเบื้องต้นหมายถึงไม่ต้องถึงขนาดพิสูจน์ถูกผิดจนจบกระบวนการว่าเกิดจากวัคซีนหรือไม่ แต่เมื่อใดที่ไปฉีดวัคซีนแล้วเกิดอาการข้างเคียงหรือแม้กระทั่งเสียชีวิตแต่แพทย์จะระบุสาเหตุการเสียชีวิตจากเรื่องอื่น แต่ถ้าสงสัยว่าจะเกี่ยวกับวัคซีน ก็สามารถยื่นเรื่องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นเข้ามาได้เลย ไม่ต้องรอผลการชันสูตรอะไรทั้งสิ้น สปสช.จะมีคณะอนุกรรมการทั้ง 13 เขตทั่วประเทศดำเนินการพิจารณาเรื่องเงินเยียวยาให้และจ่ายเงินภายใน 5 วันหลังมีมติ และแม้ว่าต่อมาจะพิสูจน์ได้ว่าการเสียชีวิตหรือเจ็บป่วยไม่ได้มาจากวัคซีน ก็จะไม่มีการเรียกเงินคืนแต่อย่างใด
“ภารกิจของคณะอนุกรรมการฯ ไม่ได้พิจารณาหรือพิสูจน์ว่าผลข้างเคียงเกิดจากวัคซีนโควิด-19 หรือไม่ แต่ภารกิจคือการช่วยเหลือเบื้องต้นและพิจารณาให้รวดเร็วที่สุด ดังนั้นในการพิจารณาก็จะดูจากเอกสารทางการแพทย์ ประวัติสุขภาพ ช่วงเวลาที่เกิดปัญหา คณะอนุกรรมการก็จะพิจารณาเป็นรายๆ ไป ดังนั้นจึงไม่สามารถนำผลสรุปการจ่ายเงินช่วยเหลือแต่ละประเภท โดยเฉพาะในกลุ่มที่เสียชีวิตไปอ้างอิงหรือสรุปได้ว่ามีสาเหตุจากวัคซีนโควิด เพราะคณะอนุกรรมการพิจารณาตามหลักการเยียวยาเบื้องต้นคือไม่พิสูจน์ถูกผิด หรือ no-fault compensation ซึ่งเป็นหลักการช่วยเหลือเดียวกันกับมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่เยียวยาความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขนั่นเอง” ทพ.อรรถพร กล่าว
ทั้งนี้จากข้อมูลล่าสุดในวันนี้ (26 ธ.ค. 64) มีประชาชนที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 และเกิดภาวะไม่พึงประสงค์ยื่นคำร้องขอรับการช่วยเหลือจำนวน 11,707 โดยในจำนวนนี้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ขอรับการช่วยเหลือ 8,470 ราย หรือร้อยละ 72.39 ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ 1,752 ราย หรือร้อยละ 14.97 (ในจำนวนนี้มีผู้ที่อุทธรณ์ 615 ราย หรือร้อยละ 6.02) และอยู่ระหว่างรอการพิจารณาอีก 1,485 ราย หรือร้อยละ 12.68 โดย สปสช.ได้จ่ายเงินช่วยเหลือฯ ไปแล้วทั้งหมด จำนวน 927,084,900 บาท
อย่างไรก็ตามส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มอาการไม่รุนแรง เข้าหลักเกณฑ์ระดับ 1 อาการเจ็บป่วยต่อเนื่อง จ่ายไม่เกิน 1 แสนบาท จำนวน 6,298 ราย ขณะที่ในระดับ 2 เกิดความเสียหายถึงขั้นสูญเสียอวัยวะหรือพิการจนมีผลต่อการดำรงชีวิต จ่ายไม่เกิน 2.4 แสนบาท มี จำนวน 210 ราย และระดับ 3 กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร จ่ายไม่เกิน 4 แสนบาท จำนวน 1,962 ราย
ทั้งนี้ ผู้ได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 สามารถยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ใน 3 จุด คือ ที่หน่วยบริการที่ไปรับการฉีด ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือที่ สปสช.เขตพื้นที่ทั้ง 13 สาขาเขต มีระยะเวลายื่นคำร้องภายใน 2 ปี นับจากวันที่เกิดความเสียหายหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ซึ่งหลังจากได้รับคำร้องแล้ว จะมีคณะอนุกรรมการในระดับเขตซึ่งประกอบด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและตัวแทนภาคประชาชนเป็นผู้พิจารณาว่าจะจ่ายเงินเยียวยาหรือไม่และจ่ายเป็นจำนวนเท่าใด ตามหลักฐานทางการแพทย์และระดับความหนักเบาของอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้น เมื่อมีผู้มายื่นคำร้องแล้ว คณะอนุกรรมการฯ ระดับเขตพื้นที่จะเร่งพิจารณาให้แล้วเสร็จโดยเร็วโดยประชุมพิจารณาทุกสัปดาห์ และจ่ายเงินภายใน 5 วันหลังมีมติ และในกรณีที่ผู้ยื่นคำร้องไม่เห็นด้วยกับผลการวินิจฉัย ก็มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อเลขาธิการ สปสช. ได้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ทราบผลการวินิจฉัย
ดาวน์โหลดแแบบคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีนป้องกันโควิดได้ที่ https://www.nhso.go.th/downloads/175
สอบถามเพิ่มเติม สายด่วน สปสช. 1330 หรือ คลิก https://lin.ee/zzn3pU6 เพิ่มเพื่อนไลน์กับ สปสช. @nhso