กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย รอง ผบช.ก., พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.ธรากร เลิศพรเจริญ รอง ผบก.ปอท.รรท.รอง ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.4 บก.ปคบ., สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดย นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา, ภญ.สุภัทรา บุญเสริม ผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ด้านสาธารณสุข รักษาราชการแทนรองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกันแถลงผลการปฏิบัติงาน กรณีกวาดล้างผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารผสมสารไซบูทรามีนและขายยาชุดลดน้ำหนักทางสื่อออนไลน์โดยไม่ได้รับอนุญาต ระดมตรวจค้นเป้าหมาย 15 จุด สามารถจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับได้ 14 ราย พร้อมยึดของกลางที่เกี่ยวข้องเพื่อรอขยายผลต่อไป
สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก. ปคบ.) ได้ตรวจสอบพบการลักลอบจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอ้างสรรพคุณลดน้ำหนักและยาชุดลดน้ำหนักทางสื่อออนไลน์ จึงได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สืบสวนเส้นทางการลักลอบจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าว และขออนุมัติออกหมายจับผู้เกี่ยวข้อง จำนวน 14 ราย ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร จันทบุรี ฉะเชิงเทรา นครนครศรีธรรมราช และนนทบุรี โดยในวันที่ 28 ธันวาคม 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก. ปคบ. สามารถจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับทั้ง 14 ราย พร้อมตรวจยึดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอ้างสรรพคุณลดน้ำหนักเห็นผลไวใน 7 วัน ซึ่งผลการตรวจวิเคราะห์ในเบื้องต้นพบสารไซบูทรามีน ยาชุดลดน้ำหนักและยาไม่มีทะเบียนจำนวนมาก โดยกลุ่มบุคคลเหล่านี้มีพฤติการณ์โพสต์ขายยาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารตามเฟซบุ๊กและสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นการขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต จากการสอบสวนผู้ต้องหาให้การว่า ตนไม่มีความรู้หรือมีใบประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมหรือมีความรู้เฉพาะทางแต่อย่างใด ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนักของกลางซื้อมาจากตัวแทนขายและว่าจ้างผู้ผลิตโดยตรง ส่วนยาแผนปัจจุบันดังกล่าวซื้อมาจากร้านขายยาทั่วไป เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ยึดของกลางทั้งหมด นำส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดกฎหมาย
เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตาม
1. ประมวลกฎหมายยาเสพติด แนบท้าย พ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2564
“ฐานจำหน่ายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1” ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 10 ปี และไม่เกิน 1,000,000 บาท
2. พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 ฐาน “ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต” ต้องระวางโทษจำคุก
ไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท
3.พระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. 2537 ฐาน “ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. ฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชน อย่าซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพที่โฆษณาสรรพคุณว่าลดความอ้วนทางออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือยาชุดอ้างลดความอ้วน ลดน้ำหนักมารับประทานเองโดยเด็ดขาด เนื่องจากอาจเกิดผลข้างเคียงได้ หากมีความจำเป็นต้องรับประทาน ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร และขอเตือนไปยังผู้ที่ลักลอบกระทำความผิดที่ผสมวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ไม่ว่าจะเป็นโรงงานรับจ้างผลิต เจ้าของผลิตภัณฑ์ หรือผู้จำหน่ายให้หยุดพฤติการณ์ดังกล่าวทันที หากตรวจพบจะดำเนินคดีโดยเด็ดขาด และหากพี่น้องประชาชนพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัยสามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน บก.ปคบ. 1135 หรือเพจ ปคบ. เตือนภัยผู้บริโภค
ภญ. สุภัทรา บุญเสริม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ด้านสาธารณสุข รักษาราชการแทน
รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวในตอนท้ายว่า อย. ได้เฝ้าระวังผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกลุ่มที่อวดอ้างสรรพคุณลดน้ำหนักเป็นกรณีพิเศษ โดยร่วมกับตำรวจ บก. ปคบ. สืบสวนสอบสวนหาตัวผู้กระทำผิดจนมีการจับกุมดำเนินคดีผู้ผลิต ผู้จำหน่ายที่กระทำผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง และแจ้งข่าวเตือนประชาชนให้ทราบข้อมูลอยู่เสมอเพื่อ มิให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อ ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง เช่น ทานแล้วลดน้ำหนักเห็นผลไว เห็นผลจริง ปลอดภัย การันตี ไม่มีผลข้างเคียง เป็นต้น ผลิตภัณฑ์ที่อวดอ้างใช้ลดน้ำหนักเหล่านี้มักพบว่า มีส่วนผสมของไซบูทรามีนหรือยาแผนปัจจุบัน ผลที่ได้อาจไม่คุ้มเสีย เพราะนอกจากจะเสียเงินแล้ว ยังเสียสุขภาพจากผลข้างเคียงของยาและอาจทำให้เสียชีวิตได้ ขอย้ำว่า อย่าซื้อยาทางสื่อออนไลน์มารับประทานเองโดยเด็ดขาด ดังนั้นก่อนตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ใด ขอให้ตรวจสอบข้อมูลการได้รับอนุญาตผลิตภัณฑ์โดยละเอียดที่หน้าเว็บไซต์ อย. www.fda.moph.go.th หัวข้อ ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ หรือ Oryor Smart Application และหากพบการลักลอบผลิต นำเข้า จำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย ขอให้แจ้งมาที่สายด่วน อย. 1556 หรืออีเมล 1556@fda.moph.go.th