พล. อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีการลงนามในข้อตกลงการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 AZD1222 เป็นจำนวน 26 ล้านโดส ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
พล. อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีการลงนามในข้อตกลงการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 AZD1222 เป็นจำนวน 26 ล้านโดส ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังจากที่กระทรวงสาธารณสุข และ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ได้บรรลุข้อตกลงการจัดหาวัคซีนซึ่งพัฒนาขึ้นโดยมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ดร่วมกับบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า โดยตั้งเป้าส่งมอบวัคซีนชุดแรกได้ภายในกลางปี 2564 ทั้งนี้ วัคซีนดังกล่าว จะผลิตโดย บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ผู้ผลิตวัคซีนรายเดียวสำหรับประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ทั้งนี้ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (23 พฤศจิกายน 2563) บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ได้ประกาศผลการวิจัยวัคซีนเบื้องต้นว่ามีประสิทธิผลสูงในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 และมีความปลอดภัยสูง สามารถป้องกันกลุ่มอาสาสมัครที่ไดรับวัคซีนจากการติดเชื้อ ผลการวิเคราะห์เบื้องต้นของการทดลองทางคลินิกแสดงให้เห็นว่าวัคซีนวิจัย AZD1222 สามารถให้ประสิทธิผลสูงถึง 90% โดยขึ้นอยู่กับขนาดของโดสที่ให้ พร้อมกันนี้ยังพบว่ามีผลข้างเคียงที่ยอมรับได้ในกลุ่มอาสาสมัครที่ได้รับวัคซีนและไม่พบเหตุไม่พึงประสงค์ด้านความปลอดภัยที่ร้ายแรง อีกทั้งยังสามารถจัดเก็บวัคซีนนี้ได้ที่อุณหภูมิระหว่าง 2-8 องศาเซลเซียส จึงใช้งานง่ายและเหมาะสมกับระบบสุขภาพของประเทศไทย
หนังสือข้อตกลงในการจัดหาวัคซีนลงนามโดย นพ. นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ นพ. โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย มร. เจมส์ ทีก ประธานบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด และ มร. เอเดรียน เค็มพ์ เลขานุการบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า สหราชอาณาจักร จำกัด ซึ่งในพิธีลงนามครั้งนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พล.อ.อ.สถิตย์พงษ์สุขวิมลประธานกรรมการบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์จำกัดนายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี พร้อมด้วย นายปาสคาลโซเรียตประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าร่วมเป็นสักขีพยาน
พิธีลงนามดังกล่าวยังได้รับเกียรติจาก นาง อเล็กซานดรา แมคเคนซี อัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย และ มร. นิโคลัสวีคส์ อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตแห่งราชอาณาจักรสวีเดน พร้อมด้วยนายพิษณุ สุวรรณชฎ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงลอนดอน เข้าร่วมเป็นเกียรติในพิธีดังกล่าวอีกด้วย
พล.อ. ประยุทธ์ได้กล่าวในพิธีลงนามว่า “ประเทศไทยประสบความสำเร็จอย่างสูงในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ก็ได้รับผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจอย่างมากเช่นกัน ดังนั้นการเข้าถึงวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้ตั้งแต่เนิ่นๆ จึงเป็นทางออกที่ยั่งยืนในการต่อสู้กับปัญหาการแพร่ระบาดครั้งนี้
การที่รัฐบาลไทยสามารถจัดหาวัคซีนที่พัฒนาขึ้นโดยมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ดและแอสตร้าเซนเนก้าโดยการจองซื้อล่วงหน้าจำนวน 26 ล้านโดส ทำให้มั่นใจได้ว่าคนไทยจะสามารถเข้าถึงวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยได้” “นับเป็นโอกาสที่สำคัญในการแสดงให้นานาชาติได้เห็นถึงความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมด้านการผลิตชีวเภสัชของประเทศไทย รวมทั้งบทบาทของไทยในฐานะผู้ผลิตวัคซีนที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย” พล.อ. ประยุทธ์กล่าว
มร. เจมส์ ทีก ประธานบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “แอสตร้าเซนเนก้ามีความภาคภูมิใจที่ได้ร่วมสนับสนุนกลยุทธ์การจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของรัฐบาล ด้วยการจัดสรรวัคซีนวิจัยป้องกันโควิด-19 AZD1222 พัฒนาขึ้นโดยมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ดร่วมกับแอสตร้าเซนเนก้าซึ่งจะผลิตในประเทศไทยพร้อมกันนี้ขอขอบคุณสำหรับการแนะนำและแนวทางของรัฐบาล ผมเชื่อมั่นว่าความร่วมมือนี้จะเป็นทางออกของปัญหาการแพร่ระบาด นำมาซึ่งสุขภาพที่ดีและความเจริญก้าวหน้าของประเทศไทยต่อไป”
แอสตร้าเซนเนก้าจะทำงานร่วมกับ สยามไบโอไซเอนซ์ ในการขยายกำลังการผลิตวัคซีน AZD1222 ในระดับโลก โดยการถ่ายทอดเทคโนโลยีได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา และสามารถดำเนินการได้ตามแผนการที่วางไว้ ในขณะเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุข และ แอสตร้าเซนเนก้า ได้ประสานความร่วมมือกันเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับกระบวนการขออนุมัติการขึ้นทะเบียนวัคซีนให้สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วและเป็นไปตามมาตรฐานด้านความปลอดภัยสูงสุดภายใต้กฎข้อบังคับด้านสาธารณสุขของประเทศไทย
เกี่ยวกับ แอสตร้าเซนเนก้า
แอสตร้าเซนเนก้า (ชื่อย่อหลักทรัพย์ AZN ในตลาดหลักทรัพย์ LSE/ STO/ Nasdaq)เป็นบริษัทชีวเภสัชภัณฑ์ชั้นนำระดับโลก มุ่งเน้นทางด้านการคิดค้น พัฒนา และจำหน่ายยาเพื่อการรักษาโรค โดยเฉพาะในกลุ่มยาโรคมะเร็ง กลุ่มยาโรคหัวใจ ไต และระบบเผาผลาญ และกลุ่มยาโรคทางเดินหายใจ แอสตร้าเซนเนก้า มีฐานอยู่ที่เมืองเคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร และดำเนินธุรกิจในกว่า 100ประเทศ และมีผู้ป่วยหลายล้านคนทั่วโลกที่ได้รับประโยชน์จากนวัตกรรมยาต่างๆ จากแอสตร้าเซนเนก้าสำหรับข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาไปยังเว็บไซต์ astrazeneca.comและช่องทางทวิตเตอร์@AstraZeneca