นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อม ดร.นายแพทย์อาชวินทร์ โรจนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข ดร.นายแพทย์สุรัคเมธ มหาศิริมงคล ผู้อำนวยการสถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอน BA.2 ว่า ข้อมูลตั้งแต่เปิดประเทศเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 - 25 มกราคม 2565 ประเทศไทยตรวจพบสายพันธุ์โอมิครอนแล้ว 12,545 ราย พบมากที่สุดที่กรุงเทพมหานคร 5,029 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 1,474 ราย, รองลงมาที่ชลบุรี 950 ราย ติดเชื้อในประเทศ 508 ราย, ภูเก็ต 777 ราย ติดเชื้อในประเทศ 103 ราย, ร้อยเอ็ด 431 ราย ติดเชื้อในประเทศทั้งหมด, สมุทรปราการ 379ราย ติดเชื้อในประเทศ 66 ราย, สุราษฎร์ธานี 375 ราย ติดเชื้อในประเทศ 45 ราย, กาฬสินธุ์ 324 ราย ติดเชื้อในประเทศ 322 ราย, หนองคาย 264 ราย ติดเชื้อในประเทศทั้งหมด, มหาสารคาม 262 ราย ติดเชื้อในประเทศทั้งหมด และเชียงใหม่ 244 ราย ติดเชื้อในประเทศ 141 ราย
ทั้งนี้จากการสุ่มเฝ้าระวังตั้งแต่วันที่ 23 – 25 มกราคม 2565 จำนวน 1,033 ราย พบเป็นสายพันธุ์โอมิครอน 977 ราย สายพันธุ์เดลตา 56 ราย หากดูสัดส่วนของผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ขณะนี้ มีสัดส่วนการพบสายพันธุ์โอมิครอนร้อยละ 99.9 ส่วนกลุ่มผู้ติดเชื้อในประเทศมีสัดส่วนการพบสายพันธุ์โอมิครอนร้อยละ 92.3
นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับประเด็นโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย ขณะนี้ในโลกนี้มีสายพันธุ์ย่อยอยู่ 3 ตัว คือ BA.1, BA.2 และ BA.3 โดยข้อมูลที่รายงานในระบบ GISAID มี BA.1 จำนวน 420,299 ราย ขณะที่เจอ BA.2 จำนวน 10,385 ราย สายพันธุ์ที่ระบาดหลักทั่วโลก คือ BA.1 เพียงแต่มีข้อสังเกตว่า BA.2 เริ่มพบในต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งจากการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิดโอมิครอน BA.2 ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ส่งข้อมูลไปยังระบบ GISAID มีทั้งหมด 6 ราย ส่งข้อมูลตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2565 ล่าสุดกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ส่งไปเพิ่มอีก 8 ราย รวมเป็น 14 ราย ซึ่ง 8 รายหลังจะปรากฎให้เห็นในระบบอีกประมาณ 1-2 วัน ยืนยันว่ากรมตรวจพบ BA.2 ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2565 และวิเคราะห์ข้อมูลจนแน่ใจจึงรายงานเข้าไปในระบบ GISAID
สำหรับ 3 คำถามเวลามีพันธุ์ใหม่ จะแพร่เร็วไหม รุนแรงไหม หรือหลบภูมิคุ้มกันหรือไม่ ข้อมูลของ BA.2 ณ ปัจจุบัน ยังมีข้อมูลน้อยเกินไปที่จะสรุปว่า แพร่เร็วหรือไม่ ต้องติดตามข้อมูลต่อไป และไม่ว่าจะสายพันธุ์ย่อยไหน RT-PCR และ ATK ยังสามารถตรวจได้
จากข้อมูลผู้ติดเชื้อ BA.2 จำนวน 14 ราย พบว่า เดินทางมาจากต่างประเทศ 9 ราย ติดเชื้อในประเทศ 5 ราย การติดเชื้อในประเทศมี 1 รายเสียชีวิต เป็นคุณป้าติดเตียงที่เสียชีวิตที่อยู่ภาคใต้ อายุมากแล้วและมีโรคประจำตัว แต่ก็ยังบอกไม่ได้ว่า BA.2 รุนแรงกว่า BA.1 หรือไม่ แต่ภาพรวมเราส่งข้อมูลของโอมิครอนทั้งหมด ให้กรมการแพทย์ เบื้องต้นมีผู้เสียชีวิตจากโอมิครอนร้อยละ 0.1% ซึ่งอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างต่ำ แต่รายละเอียดว่า อาการหนักแค่ไหน อย่างไร กรมการแพทย์กำลังทำรายละเอียด รวมถึงปัจจัยการฉีดวัคซีน รายละเอียดต้องรอกรมการแพทย์แถลง
“ขอย้ำว่า ต้องกระตุ้นด้วยวัคซีน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคเรื้อรัง หากดูกราฟจะพบว่า คนที่มีร่างกายแข็งแรง ได้รับวัคซีน มีภูมิคุ้มกันมากพอ โอกาสเสียชีวิตจะน้อยมาก ดังนั้น กลุ่มเป้าหมายสำคัญ คนสูงอายุต้องรีบมารับวัคซีนเข็มกระตุ้นให้เร็วที่สุด” นายแพทย์ศุภกิจ กล่าว