ดีเดย์ 1 ก.พ. สปสช.เพิ่มทางเลือกฟอกเลือดฟรีแก่ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังสิทธิบัตรทอง

สปสช.ออกประกาศเพิ่มทางเลือกผู้ป่วยไตวายเรื้อรังสิทธิบัตรทอง 1 ก.พ. นี้เป็นต้นไป ให้สิทธิผู้ป่วยตัดสินใจร่วมกับแพทย์ เลือกระหว่างล้างไตทางช่องท้องหรือฟอกเลือดฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย ส่วนผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องเดิมหากต้องการเปลี่ยนไปใช้วิธีฟอกเลือด ให้ปรึกษาแพทย์ผู้รักษาก่อนเพื่อพิจารณาความเหมาะสมของแต่ละราย รวมทั้งผู้ป่วยที่ปฏิเสธล้างไตทางช่องท้องแล้วเลือกจ่ายเงินฟอกเลือดเอง 1 ก.พ. นี้ก็รับบริการฟรี ไม่ต้องจ่ายเงินเองอีกต่อไป


นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สปสช.ได้ออกประกาศ เรื่อง การจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขกรณีบริการผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง พ.ศ. 2565 ซึ่งมีสาระสำคัญคือการเพิ่มทางเลือกการบำบัดทดแทนไตแก่ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังสิทธิบัตรทองหรือสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จากเดิมที่ สปสช. กำหนดให้วิธีการล้างไตทางช่องท้องเป็นทางเลือกแรก แต่หากผู้ป่วยปฏิเสธการล้างไตทางช่องท้องแล้วต้องการใช้วิธีฟอกเลือดจะต้องจ่ายเงินค่าฟอกเลือดเอง แต่นับจากวันที่ 1 ก.พ. 2565 เป็นต้นไป หากผู้ป่วยไม่ประสงค์ล้างไตทางช่องท้อง ก็สามารถเลือกใช้วิธีฟอกเลือดได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง อย่างไรก็ดี การเลือกวิธีการบำบัดทดแทนไตแบบไหนก็ตาม ต้องปรึกษากับแพทย์ผู้ทำการรักษาก่อน เพื่อพิจารณาบริบทของผู้ป่วยแต่ละรายว่าวิธีบำบัดทดแทนไตแบบไหนเหมาะกับผู้ป่วยรายนั้นที่สุด


ที่มาของมติดังกล่าวนี้ มาจากการลงพื้นที่หน่วยบริการและพบประชาชนของ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อนุทิน ชาญวีรกูล ที่พบว่า ได้รับฟังปัญหาจากผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่แพทย์เลือกวิธีการล้างไตทางช่องท้อง (PD) ให้ แต่ตัวผู้ป่วยต้องการใช้วิธีล้างไตด้วยการฟอกเลือด (HD) จึงต้องแบกรับภาระค่าฟอกเลือดเองครั้งละ 1,500 บาท จึงนำเรื่องนี้หารือกับ สปสช.เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ต้องจ่ายเงินเอง ซึ่ง สปสช. ได้ทำการศึกษารายละเอียดแล้วพบว่าสามารถทำได้ จึงนำมาสู่การเสนอความเห็นชอบจากบอร์ด สปสช.และเป็นมติเมื่อวันที่ 6 ม.ค.2565 ที่ผ่านมา


นพ.จเด็จ กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยล้างไตทางหน้าท้อง 32,892 ราย ผู้ป่วยที่ล้างไตด้วยวิธีฟอกเลือด 24,256 ราย และมีอีก 6,546 รายที่ปฏิเสธการล้างไตทางช่องท้องแล้วเลือกจ่ายเงินเอง แต่เมื่อประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้แล้ว ในกรณีผู้ป่วยรายเดิม (ก่อน 1 ก.พ.2565) ที่ล้างไตผ่านช่องท้องแล้วต้องการเปลี่ยนมาใช้วิธีฟอกเลือด จะต้องทำการปรึกษาแพทย์ผู้ทำการรักษาก่อน หากแพทย์พิจารณาแล้วไม่กระทบกับภาวะสุขภาพและผู้ป่วยไม่ติดขัดในเรื่องการเดินทางมาฟอกเลือดที่โรงพยาบาล ผู้ป่วยก็สามารถเข้ารับบริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมตามที่แพทย์แนะนำโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ไม่เกิน 3 ครั้ง/สัปดาห์


ส่วนผู้ป่วยเดิมที่ไม่ประสงค์ล้างไตทางช่องท้องและรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการฟอกเลือดเอง หลังจากวันที่ 1 ก.พ.2565 เป็นต้นไป จะได้รับสิทธิรับการฟอกเลือดฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่ายเช่นกัน


นพ.จเด็จ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของผู้ป่วยรายใหม่ตั้งแต่ 1 ก.พ.2565 เป็นต้นไป เมื่อได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์แล้วว่าต้องเข้ารับบริการบำบัดทดแทนไต แพทย์และผู้ป่วยจะตัดสินใจร่วมกันเพื่อเลือกวิธีการบำบัดทดแทนไตที่เหมาะสมกับผู้ป่วยมากที่สุด โดยไม่กำหนดให้ใช้วิธีล้างไตผ่านช่องท้องเป็นทางเลือกแรกอีกต่อไป


ทั้งนี้ กรณีผู้ป่วยรายใหม่ที่สมัครใจล้างไตผ่านช่องท้องตามรูปแบบเดิม จะเข้าสู่ระบบบริการล้างไตทางช่องท้องที่บ้าน โดย สปสช. จัดส่งน้ำยาล้างไตผ่านทางช่องท้องถึงบ้านสำหรับกรณีล้างไตด้วยตัวเอง (CAPD) 4 ถุง/วัน และกรณีล้างไตผ่านทางช่องท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติ (APD) 2 ถุง/วัน ส่วนยากระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง สปสช. จะสนับสนุนยาที่อยู่ในบัญชีนวัตกรรมตามความจำเป็นและข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ โดยใช้ระดับ Hematocrit (Hct) เป็นข้อมูลประกอบการให้ยา หากระดับ Hct ≤ 30% สนับสนุน 4,000 unit x 8 ครั้งต่อเดือน หรือ หากระดับ Hct > 30% สนับสนุน 4,000 unit x 4 ครั้ง/เดือน


ขณะที่ผู้ป่วยรายใหม่ที่สมัครใจฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม แพทย์จะส่งไปเข้ารับบริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมที่หน่วยบริการที่เหมาะสมสัปดาห์ละไม่เกิน 3 ครั้งโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และเช่นเดียวกับผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้อง สปสช. จะสนับสนุนยากระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดงที่อยู่ในบัญชีนวัตกรรม โดยใช้ระดับ Hematocrit (Hct) เป็นข้อมูลประกอบการให้ยา หากระดับ Hct ≤ 30% สนับสนุน 4,000 unit x 8 ครั้งต่อเดือน หรือ หากระดับ Hct > 30% สนับสนุน 4,000 unit x 4 ครั้ง/เดือน เช่นกัน