กระทรวงสาธารณสุข แจงยังไม่ได้ประกาศให้โรคโควิด 19 เป็นโรคประจำถิ่น เพียงแต่ให้กำหนดหลักเกณฑ์เพื่อวางแผนบริหารจัดการให้เป็นโรคประจำถิ่นให้ได้ในปี 2565 ยืนยันประชาชนไม่ได้รับผลกระทบในการรักษา
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงการดำเนินการให้โรคโควิด 19 เป็นโรคประจำถิ่น ว่ากระทรวงสาธารณสุขมีการประเมินจากสถานการณ์ ทั้งเรื่องอาการ ความรุนแรงของโรค สัดส่วนผู้เสียชีวิตต่อผู้ติดเชื้อ เพื่อให้การบริหารจัดการเหมาะสมกับสถานการณ์และลักษณะของโรค ซึ่งขณะนี้ถือว่าทุกอย่างอยู่ภายใต้การควบคุม ผู้ติดเชื้อคงที่ประมาณ 6-7 พันรายต่อวัน เตียงผู้ป่วยในโรงพยาบาลและไอซียูยังว่าง ยาและวัคซีนมีพร้อม โดยผู้เสียชีวิตขณะนี้เป็นกลุ่มเสี่ยง 608 และไม่ได้รับวัคซีน การลดจากโรคระบาด (Pandemic) มาเป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) ก็เพื่อทำให้กลไกต่างๆ ของประเทศขับเคลื่อนต่อไปได้ ประชาชนได้กลับมาดำเนินชีวิตตามปกติโดยเร็วที่สุด โดยยังต้องเข้มมาตรการ VUCA คือ V ฉีดวัคซีนโดยเฉพาะเข็มกระตุ้น U ป้องกันตนเองสูงสุดตลอดเวลา C COVID Free Setting และ A การตรวจ ATK
ด้านนายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีการประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขโรคโควิด 19 (EOC) มาตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม 2563 ถึงวันนี้เป็นเวลา 2 ปีเต็ม รวม 411 ครั้ง เพื่อติดตามสถานการณ์และกำหนดมาตรการที่เหมาะสม มีการพิจารณาความรุนแรงของโรค ภูมิต้านทานของคนในประเทศ ความสามารถในการรักษาพยาบาล เวชภัณฑ์ องค์ประกอบต่างๆ และการรับรู้ของประชาชน คาดว่าจะควบคุมให้เป็นโรคประจำถิ่นได้ภายในปี 2565 นี้ ซึ่งต้องอาศัยการบริหารจัดการ จึงมีการประกาศหลักเกณฑ์เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนดำเนินการให้โรคโควิด 19 เป็นโรคประจำถิ่น แต่ยังไม่ได้ประกาศให้เป็นโรคประจำถิ่นในตอนนี้
“การวางแผนดำเนินการจะต้องสอดคล้องกัน ทั้งเรื่องการฉีดวัคซีน มาตรการควบคุมโรค การปรับกฎหมายต่างๆ และการรักษาพยาบาล ซึ่งแม้จะเป็นโรคประจำถิ่น แต่จะไม่กระทบกับการรักษาเพราะคนไทยทุกคนมีกองทุนสุขภาพดูแล ทั้งหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ” นพ.เกียรติภูมิกล่าว