กรมควบคุมโรค ย้ำเนื้อหมู "ห้ามกินดิบ" เสี่ยงป่วยโรคทางเดินอาหารและน้ำ และโรคไข้หูดับ

กระทรวงสาธารณสุข

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ย้ำเนื้อหมูต้องปรุงสุกจนทั่ว หากกินดิบเสี่ยงป่วยโรคอาหารเป็นพิษ โรคอุจจาระร่วง โรคพยาธิ และโรคไข้หูดับ พร้อมยืนยันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรไม่ติดต่อสู่คน
          นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากกรณีมีรายงานข่าวพบโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร อาจทำให้ประชาชนรู้สึกเป็นกังวลในการรับประทานเนื้อหมู นั้น กรมควบคุมโรค ขอให้ข้อมูลว่า โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ ASF (African Swine Fever) ซึ่งเชื้อไวรัสชนิดนี้ไม่สามารถติดต่อจากสัตว์สู่คนได้ โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันและไม่มียารักษาในสุกร เชื้อไวรัสมีความทนทาน สามารถอยู่ในผลิตภัณฑ์จากสุกรได้นาน โรคนี้เป็นโรคที่ติดต่อในสุกรและหมูป่าเท่านั้น ยังไม่มีรายงานติดสัตว์ชนิดอื่นและไม่มีรายงานติดต่อสู่คน
          “แม้ว่าโรคนี้จะไม่ติดต่อสู่คน แต่ขอเน้นย้ำว่าการบริโภคเนื้อหมู ควรซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้ และเลือกร้านที่ได้มาตรฐาน ที่สำคัญเพื่อความปลอดภัยจากเชื้อโรคต่างๆ ควรยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” นำเนื้อหมูมาปรุงสุกให้ทั่วถึงก่อนกิน ไม่ควรกินเนื้อหมูดิบ หรือเลือดหมูดิบ เพราะเสี่ยงต่อการรับเชื้อก่อโรคติดต่อทางอาหารและน้ำชนิดต่างๆ ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร ทั้งนี้ หากมีอาการผิดปกติหลังกินอาหารที่ปรุงมาจากเนื้อหมูไม่สุก ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อรับการวินิจฉัยที่ถูกต้องและรวดเร็ว” นายแพทย์โอภาส กล่าว
          นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอความร่วมมือประชาชน ห้ามนำสุกรที่ป่วยตายหรือสงสัยว่าติดเชื้อมาชำแหละเพื่อปรุงเป็นอาหาร เนื่องจากขั้นตอนการชำแหละอาจทำให้เชื้อแพร่กระจายไปยังสุกรตัวอื่นได้ สำหรับในกรณีที่ต้องสัมผัสกับสุกรที่เลี้ยงไว้หรือต้องเกี่ยวข้องกับการทำลายสุกรที่ป่วยหรือตาย ขอให้มีการป้องกันตนเองด้วยการสวมหน้ากากอนามัย สวมถุงมือ สวมแว่นตาที่สามารถป้องกันไม่ให้ของเหลวจากสัตว์กระเด็นเข้าตา ใส่เสื้อผ้ามิดชิด ล้างมือให้บ่อยๆ อาบน้ำหลังการสัมผัสสัตว์ และทำความสะอาดหรือซักเสื้อผ้าด้วยสารซักล้างหรือน้ำยาฆ่าเชื้อ ในส่วนของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรขอให้ติดตามคำแนะนำของกรมปศุสัตว์ในเรื่องของการเลี้ยงสุกรปลอดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร
           หากพบการป่วยการตายของสุกร โดยมีอาการไอ ไข้สูง นอนสุมกัน ขาหลังไม่มีแรง ผิวหนังแดง มีจุดเลือดออก มีรอยช้ำที่ผิวหนัง บริเวณใบหูและท้อง ท้องเสียเป็นเลือด และแม่สุกรมีการแท้ง ขอให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ ปศุสัตว์ในพื้นที่ อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) กำนัน ผู้ใหญ่บ้านโดยทันที หรือแจ้งผ่านสายด่วนแจ้งโรคกรมปศุสัตว์ โทร 063 225 6888 และแอปพลิเคชัน DLD 4.0 เพื่อประโยชน์ในการเฝ้าระวังโรคและควบคุมโรคในสุกร ไม่ให้มีความเสี่ยงในการแพร่กระจายโรคออกไป สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422