สมาคมโรคไตฯ ชี้ ให้ผู้ป่วยไตมีสิทธิเลือกวิธีการล้างไตเป็นนโยบายที่ดี มองผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง

เลขาธิการสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยชี้นโยบายให้ผู้ป่วยไตวายสิทธิบัตรทองมีสิทธิเลือกวิธีการล้างไตโดยตัดสินใจร่วมกับแพทย์เป็นนโยบายที่ดีมากเพราะมองคนไข้เป็นจุดศูนย์กลางและเพิ่มทางเลือกแก่ประชาชน ระบุไม่ห่วงหน่วยไตเทียมไม่เพียงพอรองรับผู้ป่วย ชี้ยังมีระบบล้างไตทางหน้าท้องคอย back up  ระหว่างรอคิวได้


นพ.สุชาย ศรีทิพยวรรณ เลขาธิการสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวถึงนโยบายของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการเพิ่มทางเลือกแก่ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ต้องรับการบำบัดทดแทนไต โดยสามารถตัดสินใจร่วมกับแพทย์เลือกใช้วิธีล้างไตทางหน้าท้องหรือฟอกเลือดก็ได้ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2565 ที่ผ่านมา โดยระบุว่า นโยบายดังกล่าวเป็นนโยบายที่ดีมากเพราะมองคนไข้เป็นจุดศูนย์กลางและเพิ่มทางเลือกแก่ประชาชน ซึ่งด้วยงบประมาณที่ สปสช.และรัฐจัดมาให้นั้นมั่นใจว่าไม่มีปัญหาในส่วนนี้


อย่างไรก็ดี ในประเด็นเรื่องสถานที่และบุคลากรที่จะรองรับผู้ป่วยที่เลือกวิธีฟอกเลือดนั้น ในเมืองใหญ่คิดว่าเพียงพอเพราะมีทั้งหน่วยไตเทียมของรัฐและเอกชน ขณะที่จำนวนผู้ป่วยที่จะเข้ามารับการฟอกไตนั้น คาดว่าในปีแรกของนโยบายนี้จะอยู่ที่ประมาณ 15,000 คน โดยมาจากผู้ป่วยเดิมที่ปฏิเสธการล้างไตทางช่องท้องแล้วเลือกจ่ายเงินฟอกเลือดเองประมาณ 6,000 คน ผู้ป่วยรายใหม่ที่ต้องรับการบำบัดทดแทนไตปีละประมาณ 8,000 คน ซึ่งคาดว่า 3 ใน 4 หรือประมาณ 5,000 คน จะเลือกการฟอกเลือด รวมทั้งผู้ป่วยเดิมที่ล้างไตทางช่องท้องและอยากเปลี่ยนมาใช้วิธีการฟอกเลือดอีกประมาณ 10% อย่างไรก็ดี ประเด็นเรื่องความพอเพียงของจำนวนหน่วยบริการและบุคลากรในระยะสั้นก็ยังไม่ใช่ประเด็นใหญ่มากนัก


"คิดว่าเรื่องสถานที่และบุคลากรไม่เป็นประเด็น เพราะยังมีการล้างไตทางช่องท้องเป็น Back Up กรณีคิวฟอกเลือดเต็ม ดังนั้นแม้สถานที่จะเต็ม แต่ก็ยังมีการล้างไตทางช่องท้อง มีพยาบาลที่สอนล้างไตทางช่องท้อง ดังนั้นสามารถเข้าคิวรอได้โดยล้างไตทางช่องท้องไปก่อน เมื่อถึงคิวแล้วก็เปลี่ยนมาฟอกเลือดได้ คนไข้ไม่เสียชีวิต และยิ่งปัจจุบัน สปสช. ยังให้สิทธิล้างไตทางช่องท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติด้วย ทำให้จากเดิมที่ต้องล้างด้วยมือวันละ 3-4 รอบ ก็ทำครั้งเดียวตอนกลางคืน บางคนทำแล้วอาจจะไม่อยากกลับไปฟอกเลือดแล้วก็ได้"นพ.สุชาย กล่าว


อย่างไรก็ตาม นพ.สุชาย ยังแสดงความกังวลใน 2 ประเด็น คือ ในระยะต่อไปจะมีการขยายศูนย์ไตเทียมขยายไปเปิดตามโรงพยาบาลขนาดเล็กมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งโรงพยาบาลเหล่านี้อาจไม่มีอายุรแพทย์โรคไตมากเพียงพอและต้องเร่งผลิตบุคลากรให้มากขึ้น รวมถึงศัลยแพทย์หลอดเลือดสำหรับเตรียมเส้นเลือดให้คนไข้ และที่สำคัญคือต้องเตรียมพยาบาลผู้ชำนาญการฟอกเลือดให้มากที่สุดให้ทันต่อสถานการณ์ เพราะจุดนี้จะเป็นข้อจำกัดในการเปิดศูนย์ไตเทียม เพราะฉะนั้น สิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขต้องสนับสนุนคือการเร่งเปิดตำแหน่งทั้ง 3 ตำแหน่งนี้ ให้บุคลากรเข้ามาฝึกอบรม ขณะที่สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยยินดีให้ความร่วมมือในการเร่งผลิตบุคลากรทั้ง 3 ส่วนนี้ให้ทันกับความต้องการของประชาชน


ประเด็นต่อมาคือข้อกังวลในเรื่องการควบคุมคุณภาพ ก่อนหน้านี้ศูนย์ไตเทียมที่จะเบิกจ่ายกับ สปสช.ได้ ต้องผ่านการตรวจจาก คณะอนุกรรมการตรวจรับรองมาตรฐานการรักษาโดยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (ตรต.) แต่ขณะนี้กฎระเบียบของ สปสช.ออกมาว่าอาจไม่จำเป็น และ สปสช.จะมีทีมตรวจสอบคุณภาพเอง แต่ตนยังกังวลในจุดนี้ ดังนั้นควรมีการพูดคุยกันระหว่าง สปสช. และ สมาคมวิชาชีพ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประโยชน์สูงสุด


"อีกอย่างที่ควรถือโอกาสทำ คือสมาคมฯสามารถอบรมบุคลากรของหน่วยไตเทียมในการให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยที่กำลังเข้าสู่การบำบัดทดแทนไต เพื่อผู้ป่วยได้รับข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน เช่น ข้อดีข้อเสียของวิธีการบำบัดทดแทนไตแต่ละแบบ ดังนั้น สปสช.ควรกำหนดให้มีเอกสารให้ผู้ป่วยลงนาม เพื่อยืนยันว่าได้รับคำแนะนำแล้ว และยืนยันวิธีการบำบัดทดแทนไตว่าจะเลือกแบบไหน ทั้งนี้เพื่อบังคับให้สถานพยาบาลแต่ละแห่งต้องให้ความรู้แก่ผู้ป่วยในทุกมุมมองนั่นเอง"นพ.สุชาย กล่าว