การรักษาเพื่อเลิกการติดนิโคตินเป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญที่สุดที่จะลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ หน่วยงานต่างๆ ด้านสุขภาพจึงได้มีการยกระดับมาตรฐานโรงพยาบาลและบริการสุขภาพ หรือ HA เพื่อช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยอย่างเป็นระบบต่อไป
เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. เปิดเผยว่า มาตรฐานโรงพยาบาลและบริการสุขภาพ ฉบับที่ 5 (HA) กำหนดให้ผู้ให้บริการทางการแพทย์ในสถานพยาบาล ต้องมีการบันทึกประวัติการสูบบุหรี่ของผู้ป่วยทุกคน โดยผู้ป่วยที่สูบบุหรี่ต้องระบุในการวินิจฉัยโรคว่าเป็นโรคภาวะติดนิโคติน (nicotine dependence) และต้องมีการวางแผนการรักษาการเลิกบุหรี่ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การให้ความรู้ การเข้าร่วมโครงการเลิกบุหรี่ หรือการพิจารณาการใช้ยาเลิกบุหรี่ตามความเหมาะสม รวมทั้งการให้ครอบครัวมีส่วนร่วมในการสนับสนุนการรักษาเพื่อเลิกบุหรี่ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่ชี้นำสถานพยาบาลให้เห็นความสำคัญและนำสู่การปฏิบัติ ทั้งนี้ ในระบบการกำหนดรหัสโรคสากล ICD-10-CM โรคภาวะติดนิโคติน (nicotine dependence) มีรหัสโคด F17.210
“การซักถามประวัติผู้ป่วย แพทย์ พยาบาล จะสร้างการเรียนรู้เรื่องการซักประวัติ การวินิจฉัย รวมถึงการวางแผนการดูแลต่อเนื่องสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยโรคภาวะติดนิโคติน และเชื่อมโยงกับโรคสำคัญต่าง ๆ ในกระบวนการดูแลรักษาจากกระบวนการตามรอย ซึ่งจะทำให้ แพทย์ พยาบาล และบุคลากรที่เกี่ยวข้องเห็นความสำคัญและกำหนดแนวทางการดูแลผู้ป่วยดังกล่าวอย่างเป็นระบบต่อไป” พญ.ปิยวรรณ กล่าว
ด้าน นพ.ชยนันท์ สิทธิบุศย์ ผู้อำนวยการกองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า มาตรฐาน HA ที่กำหนดใหม่นี้ จะทำให้เกิดวัฒนธรรมที่ผู้ให้บริการผู้ป่วยทุกคน มีการบันทึกประวัติการสูบบุหรี่ การวินิจฉัยโรคภาวะติดนิโคติน และการวางแผนการรักษาอย่างเป็นขั้นตอน ซึ่งการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่ระดับโลกของประชากรไทย ปี 2554 พบว่า ในจำนวนผู้สูบบุหรี่ 13 ล้านคน มี 34.6% หรือ 4.1 ล้านคนที่เข้ารับบริการทางการแพทย์ในหนึ่งปี ในจำนวนนี้ 65.3% หรือ 2.6 ล้านคนได้รับการซักประวัติการสูบบุหรี่ และ 55.8% ของคนที่มีประวัติสูบบุหรี่ หรือ 1.45 ล้านคนที่ได้รับการแนะนำให้เลิกสูบ ซึ่งเท่ากับ 35% ของผู้ป่วยที่สูบบุหรี่หรือ 1 ใน 3 เท่านั้น ที่มารับการรักษา ที่ได้รับการแนะนำให้เลิกสูบบุหรี่ ซึ่งมาตรฐาน HA ที่กำหนดให้ผู้ป่วยที่สูบบุหรี่ทุกคนได้รับการวินิจฉัยและรักษาการเลิกสูบบุหรี่ จะทำให้ผู้สูบบุหรี่เลิกสูบได้ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นแน่นอน
ศ.พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ ประธานคณะอนุกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้เสพติดผลิตภัณฑ์ คณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ (คผยช.) กล่าวว่า การรักษาเพื่อเลิกการติดนิโคตินเป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญที่สุดที่จะลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ การกำหนดมาตรฐานให้มีการบันทึกการวินิจฉัยโรคและวางแผนการรักษาเพื่อเลิกบุหรี่ในผู้ป่วยที่สูบบุหรี่ทุกคนเป็นเรื่องที่มีประโยชน์มาก และนานาประเทศมีการดำเนินการมาก่อนแล้ว ตามข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลก การกำหนดมาตรฐานนี้ จะทำให้ผู้ให้บริการผู้ป่วยทุกคน รวมถึงผู้ป่วยและครอบครัวตระหนักถึงความสำคัญของการให้การรักษาเพื่อเลิกสูบบุหรี่ ซึ่งปัจจุบันนี้ประเทศไทยยังมีผู้สูบบุหรี่ถึง 10 ล้านคน และจากรายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 6 ปี 2562 มีผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตกว่า 2 ล้านคนที่ยังสูบบุหรี่ ซึ่งจะเร่งการเกิดโรคแทรกซ้อนในผู้ป่วยทั้ง 2 โรคนี้ ทั้งนี้ จะมีการวางแผนร่วมกับสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล สมาคมวิชาชีพสุขภาพ และสถาบันการศึกษา ฝึกอบรมบุคลากรทางการแพทย์ให้รู้ถึงมาตรฐาน HA ใหม่นี้ เพื่อจะได้มีการดำเนินการในหน่วยบริการทั่วประเทศโดยเร็ว
ที่มา : สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน)
ภาพประกอบจาก สสส.