ม.มหิดล เดินหน้ายุทธศาสตร์วิจัยเน้นผลงานคุณภาพสู่เวทีโลก

ในการทำวิจัยให้ประสบผลสำเร็จ จำเป็นต้องอาศัยปัจจัยหลายประการพร้อมสนับสนุนร่วมด้วย
    ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ภัทรชัย กีรติสิน รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงตัวชี้วัดที่สำคัญมากประการหนึ่งของคุณภาพผลงานวิจัย คือ การได้รับการอ้างอิง (citation) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในการก้าวสู่การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก
    นอกเหนือจากการมุ่งสร้างองค์ความรู้ใหม่จากงานวิจัยแล้ว ทิศทางงานวิจัยที่ท้าทายของมหาวิทยาลัยมหิดล คือ การต่อยอดความเป็นเลิศด้านคุณภาพ ซึ่งสะท้อนได้จากการได้รับการตีพิมพ์และเผยแพร่ผลงานในวารสารที่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในระดับนานาชาติ
    ปัจจุบันงานวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดลจำนวนมากได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติระดับควอร์ไทล์ที่ 1 (สูงสุดร้อยละ  25 ของวารสารทั้งหมด) และมุ่งเป้าสู่วารสารในระดับสูงสุดร้อยละ 10 และร้อยละ 1 ให้ได้มากขึ้นต่อไป
    ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดลมีอาจารย์ นักวิจัย ที่มีศักยภาพสูงจำนวนมาก และได้รับรางวัลด้านการวิจัยจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นประจำทุกปี จึงมีโอกาสที่จะยกระดับคุณภาพงานวิจัยให้สูงขึ้นได้ยิ่งๆ ขึ้นไป
    นอกจากนี้ ในโลกยุคปัจจุบันที่องค์ความรู้มีความหลากหลาย จึงเป็นไปได้ยากที่เราจะทำงานวิจัยคุณภาพสูงโดยลำพัง มหาวิทยาลัยมุ่งเน้นให้นักวิจัย ทำงานวิจัยข้ามศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นด้านวิทยาศาสตร์ การแพทย์-สุขภาพ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ ส่งเสริมให้ทำงานร่วมกันแบบพหุสถาบัน ทั้งภาครัฐ เอกชน และอุตสาหกรรม รวมถึงมุ่งสร้างความร่วมมือในงานวิจัยกับสถาบันชั้นนำในต่างประเทศ เพื่อให้ได้ผลงานวิจัยที่มีความเป็นบูรณาการ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ พัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิตประชากรไทยได้อย่างเป็นรูปธรรมในระยะเวลาที่เหมาะสม
    อย่างไรก็ตาม การศึกษาวิจัยสร้างองค์ความรู้พื้นฐานยังมีความจำเป็นอยู่ แม้ว่าอาจต้องใช้เวลาศึกษานาน เพื่อให้สามารถนำไปต่อยอดสู่การสร้างนวัตกรรมได้ต่อไปในอนาคต ทั้งนี้มหาวิทยาลัยสนับสนุนให้การวิจัยอยู่บนพื้นฐานของเป้าหมาย Sustainable Development Goals (SDGs) ทั้ง 17 ข้อของสหประชาชาติ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามหลักสากลร่วมด้วย
    โดย ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ภัทรชัย กีรติสิน ได้กล่าวสรุปด้วยแนวคิดข้างต้น นักวิจัยต้องปรับตัวและตื่นตัวในการสร้างงานวิจัยด้วยมุมมองใหม่ๆ การสร้างความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญอย่างกว้างขวาง ทั้งในและต่างประเทศ ในขณะที่มหาวิทยาลัยต้องเตรียมความพร้อมในระบบ สนับสนุนเครื่องมือ สถานที่ เพื่อให้การทำงานวิจัยมีประสิทธิภาพและราบรื่น รวมไปถึงสร้างความร่วมมือกับสถาบันวิจัยชั้นนำในระดับโลก
    นอกจากนี้ กฎหมาย และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องอาจต้องมีการปรับปรุงให้ทันสมัยมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในวงวิชาการและการทำงานร่วมกับนานาชาติ
    เนื่องในวันครบรอบ "53 ปีวันพระราชทานนามมหิดล 134 ปีมหาวิทยาลัยมหิดล" ในวันที่ 2 มีนาคม 2565 ที่จะถึงนี้ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม แสดงปาฐกถาเกียรติยศ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ชัชวาล โอสถานนท์ ครั้งที่ 12 เรื่อง "การปฏิรูปอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมไทย: ไม่มีวันหยุดยั้ง" เพื่อเปิดมุมมองสำหรับนักวิจัยไทย ในการสร้างผลงานวิจัย นวัตกรรม เพื่อก้าวสู่ประเทศไทยในอนาคต ซึ่งสามารถติดตามได้ทาง Facebook live : Mahidol University และติดตามสรุปสาระสำคัญได้ทาง e-book ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ทั้ง iOS และ Android ผ่านแอปพลิเคชัน "MU PRESS" ได้ต่อไป

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
ออกแบบแบนเนอร์โดย วรรณภา อินทรประเสริฐ นักวิชาการโสตทัศนศึกษา