นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ได้ตรวจสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์ ได้แก่ ไส้กรอกไก่ ไส้กรอกหมู (มินิคอลเทล โบโลน่า) ไส้กรอกอีสาน แหนมหมู หมูยอ กุนเชียง แฮม เบคอน หมูแผ่น หมูแดดเดียว เนื้อแดดเดียว ลูกชิ้นหมู ลูกชิ้นปลา ลูกชิ้นเนื้อ และลูกชิ้นไก่ที่จำหน่ายในประเทศมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการใช้ไนเตรทและไนไตรท์ ในผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์ ใส่เป็นวัตถุกันเสียและทำให้อาหารมีสีสันไม่จืดซีด สำหรับข้อมูลการตรวจตัวอย่างผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์ 15 ชนิดข้างต้น ในช่วงปี 2558-2561 ซึ่งเก็บจากแหล่งจำหน่ายทั่วประเทศ รวม 1,231 ตัวอย่าง ตรวจพบจำนวน 669 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 54.3 ในจำนวนนี้ตรวจพบไนไตรท์ร่วมกับไนเตรท จำนวน 652 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 52.9 พบเฉพาะไนไตรท์เพียง 1 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 0.1 และพบเฉพาะไนเตรท จำนวน 16 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 1.3
จากนั้นในปี 2562-2564 มีการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์ที่เด็กนิยมบริโภค ได้แก่ ไส้กรอก ลูกชิ้น และหมูยอ จำนวน 159 ตัวอย่าง ตรวจพบไนไตรท์ จำนวน 36 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 22.6 ทุกตัวอย่างไม่เกินปริมาณที่กำหนด ส่วนไนเตรท พบจำนวน 30 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 18.9
นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวต่อว่า ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์ที่ไม่มียี่ห้อหรือไม่ได้มาตรฐานอาจมีการใช้ไนเตรท ซึ่งเป็นสารที่ไม่อนุญาตให้ใช้ รวมถึงอาจมีการใช้ไนไตรท์มากเกินกำหนด ซึ่งกฎหมายอนุญาตให้ใช้ไนไตรท์ได้ในผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ไม่เกิน 80 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมอาหาร แต่ถ้าหากมีปริมาณเกินที่กำหนดจะทำให้ผู้รับประทานได้รับไนไตรท์มากเกินไป อาจทำให้เกิด "ภาวะเมทฮีโมโกลบิน" (Methemoglobin) ซึ่งจะไปทำให้เม็ดเลือดแดงจับออกซิเจนได้น้อยลง จนเกิดภาวะขาดอากาศจนหายใจไม่ออกหรือเกิดอาการตัวเขียว อ่อนเพลีย หายใจหอบถี่ ปวดศีรษะ หัวใจเต้นเร็ว โดยเฉพาะเด็กเล็กมีความเป็นพิษรุนแรงกว่าผู้ใหญ่และหากรุนแรงมีโอกาสเสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตามเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายกับสุขภาพไม่ควรรับประทานอาหารประเภทนี้ในปริมาณมากและรับประทานติดต่อกันต่อเนื่องเป็นเวลานาน โดยเฉพาะเด็กหรือผู้ที่มีปฏิกิริยาตอบสนองไวต่อสารนี้เป็นพิเศษ ผู้ผลิตควรศึกษาข้อกำหนดของปริมาณไนเตรท ไนไตรท์ที่อนุญาตให้ใช้ในแต่ละประเภทผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ที่ผลิต นอกจากนั้นการเลือกซื้อสินค้าก็เป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก ต้องซื้อจากทราบแหล่งที่เชื่อถือได้ มีฉลากระบุแหล่งผลิตที่ชัดเจน มีเลขสารบบอาหาร อย. สำหรับศูนย์อาหารในโรงเรียนหรือโรงพยาบาลหรือผู้จำหน่ายอาหารควรคัดเลือกผลิตภัณฑ์ที่นำมาเป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหาร ทั้งนี้เพื่อผู้บริโภคได้รับอาหารที่มีความปลอดภัย
“จากการตรวจพบไนเตรทและไนไตรท์ในผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์นั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้สื่อสารข้อมูลการตรวจพบนี้ให้กับหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อติดตามสถานการณ์และประกอบการดำเนินงานด้านคุ้มครองผู้บริโภคแจ้งเตือนภัยให้กับผู้บริโภคได้ทราบต่อไป” นายแพทย์ศุภกิจ กล่าว