ผลลัพธ์เบื้องต้นจากการศึกษาทางคลินิกของสถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (National Institutes of Health) หรือ NIH บ่งชี้ว่ายาต้านไวรัส remdesivir อาจช่วยคนไข้ป่วยหนักที่ต้องนอนโรงพยาบาล
FDA ใช้อำนาจตามมาตรการฉุกเฉินให้การรับรอง remdesivir ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาทางคลินิก สำหรับรักษาคนไข้ติดเชื้อ COVID-19 หลังจากมีผลการศึกษาทางคลินิกยืนยันว่ายาต้านไวรัสตัวนี้ช่วยการฟื้นตัวจากการติดเชื้อ COVID-19 ได้ดีกว่ายาหลอก และมีอัตราการเสียชีวิตต่ำกว่าด้วย ขณะที่รัสเซียให้การรับรองยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ favipiravir แบบเร่งรัดและเตรียมกระจายออกใช้รักษาคนไข้ COVID-19 ในเดือนมิถุนายนนี้
เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 คณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (Food and Drug Administration) หรือ FDA ได้ให้การรับรอง remdesivir ภายใต้อำนาจตามมาตรการฉุกเฉิน (Emergency Use Authorization) หรือ EUA สำหรับฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำโดยบุคลากรทางการแพทย์ในสหรัฐอเมริกาให้กับผู้ใหญ่และเด็กที่นอนรักษาตัวในโรงพยาบาลเนื่องจากได้รับการวินิจฉัยยืนยันว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 โดย แพทย์หญิง Janet Woodcock ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและประเมินยา (Center for Drug Evaluation and Research) ของ FDA ได้สื่อสารผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ Twitter ระบุว่า เนื่องจากมีผลลัพธ์เบื้องต้นจากการศึกษาทางคลินิกของสถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (National Institutes of Health) หรือ NIH บ่งชี้ว่ายาต้านไวรัส remdesivir อาจช่วยคนไข้ป่วยหนักที่ต้องนอนโรงพยาบาลเนื่องจากได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อ COVID-19 ดังนั้น FDA จึงอนุญาตให้สามารถกระจายยาต้านไวรัสตัวนี้ไปให้กับคนไข้ในโรงพยาบาลต่าง ๆ ด้วยการฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำโดยบุคลากรทางการแพทย์
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและประเมินยาของ FDA ย้ำว่า EUA ไม่เหมือนกับการให้การรับรองยาตามขั้นตอนปกติโดยทั่วไปของ FDA โดยบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายตำรับยา remdesivir ต้นฉบับ จะต้องให้ทั้งบุคลากรทางการแพทย์และคนไข้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงต่าง ๆ ของยาต้านไวรัสตัวนี้ก่อนที่บุคลากรทางการแพทย์จะฉีดให้กับคนไข้ผ่านทางหลอดเลือดดำ โดย FDA ยังจำเป็นต้องใช้ข้อมูลที่สมบูรณ์จากการศึกษาทางคลินิกเพื่อที่จะตัดสินใจว่า remdesivir มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยหรือไม่ในการรักษาหรือป้องกันโรคติดเชื้อ COVID-19
การให้การรับรอง remdesivir ภายใต้อำนาจตามมาตรการฉุกเฉินของ FDA มีขึ้นหลังจากคณะกรรมการอิสระติดตามข้อมูลและความปลอดภัย (independent data and safety monitoring board) หรือ DSMB ของการศึกษาทางคลินิกที่เรียกกันว่า Adaptive COVID-19 Treatment Trial หรือ ACTT ซึ่งเป็นการศึกษาทางคลินิกแบบ randomized, double-blind, placebo-controlled trial ของการใช้ remdesivir ได้เผยแพร่ผลวิเคราะห์เฉพาะกาล (interim analysis) หรือผลลัพธ์เบื้องต้นของการศึกษานี้ที่แสดงให้เห็นว่าคนไข้ป่วยหนักจากการติดเชื้อ COVID-19 จนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลที่ได้รับการรักษาด้วย remdesivir มีการฟื้นตัวได้เร็วกว่าถึง 31% ซึ่งมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001) เมื่อเทียบกับคนไข้ที่ได้รับยาหลอก
โดยใน ACTT ซึ่งเป็นการศึกษาทางคลินิกในระยะที่ 3 การศึกษาแรกในสหรัฐอเมริกา เพื่อประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของ remdesivir ในการรักษาคนไข้ติดเชื้อ COVID-19 คนไข้จำนวนทั้งสิ้น 1,063 ราย ที่มีผลตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันการติดเชื้อ COVID-19 ถูกสุ่มแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งได้รับ remdesivir (ขนาดเริ่มต้นในวันแรก 200 mg ฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ และ 100 mg วันละครั้ง ฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำเช่นกันในวันถัด ๆ ไปอีก 9 วัน) ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งได้รับสารละลายคล้าย remdesivir แต่ไม่มีตัวยาออกฤทธิ์ใด ๆ ด้วยขนาดที่เท่ากับ remdesivir ด้วยวิธีการบริหารยาที่เหมือนกันและเป็นเวลาทั้งสิ้น 10 วันเช่นกัน โดยมีเป้าประสงค์หลักของการศึกษาอยู่ที่ระยะเวลาการฟื้นตัวของคนไข้ คือ คนไข้ไม่ต้องพึ่งพาออกซิเจนบำบัดและแข็งแรงพอที่จะออกจากโรงพยาบาลกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติที่บ้าน
ผลการศึกษาเบื้องต้น พบว่า กลุ่มคนไข้จำนวน 538 ราย ที่ได้รับ remdesivir มีการฟื้นตัวด้วยระยะเวลาโดยเฉลี่ย 11 วัน (95% confidence interval [CI], 9 to 12) เทียบกับ 15 วัน (95% CI, 13 to 19) ของกลุ่มคนไข้จำนวน 521 ราย ที่ได้รับยาหลอก (rate ratio for recovery, 1.32; 95% CI, 1.12 to 1.55; p<0.001) ขณะเดียวกันพบว่า remdesivir มี survival benefit ค่อนข้างดีกว่ายาหลอก โดยกลุ่มคนไข้ที่ได้รับ remdesivir มีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 8.0% เทียบกับ 11.6% ของกลุ่มคนไข้ที่ได้รับยาหลอก (p=0.059)
สำหรับข้อมูลด้านความปลอดภัยของ remdesivir จาก preliminary results พบว่ามี serious adverse events เกิดขึ้นกับคนไข้ 114 ราย (21.1%) ของกลุ่มคนไข้ที่ได้รับการรักษาด้วย remdesivir และในคนไข้ 141 ราย (27.0%) ของกลุ่มคนไข้ที่ได้รับยาหลอก ซึ่งในจำนวนนี้มีแค่ 4 serious adverse events เท่านั้น (2 events ในแต่ละกลุ่ม) ที่คณะผู้ศึกษาวิจัยตัดสินว่าเป็น serious adverse events ที่สัมพันธ์กับการได้รับการรักษาด้วย remdesivir หรือยาหลอก โดยมี 28 serious respiratory failure adverse events ในกลุ่มคนไข้ที่ได้รับ remdesivir (5.2% ของคนไข้ทั้งหมดที่ได้รับการรักษาด้วย remdesivir) เทียบกับ 42 serious respiratory failure adverse events ในกลุ่มคนไข้ที่ได้รับยาหลอก (8.0% ของคนไข้ทั้งหมดที่ได้รับยาหลอก) ขณะเดียวกันพบว่ามีอุบัติการณ์ของ acute respiratory failure, hypotension, viral pneumonia และ acute kidney injury ค่อนข้างมากกว่าในกลุ่มคนไข้ที่ได้รับยาหลอก แต่ไม่มีการเสียชีวิตของคนไข้รายใดในการศึกษานี้ที่คณะผู้ศึกษาวิจัยตัดสินว่าเป็นการเสียชีวิตที่สัมพันธ์กับการได้รับการรักษาด้วย remdesivir หรือยาหลอก
ก่อนหน้านี้ในวันที่ 29 เมษายน 2563 นายแพทย์ Anthony Fauci ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (National Institute of Allergy and Infectious Diseases) หรือ NIAID ซึ่งเป็นหน่วยงานทางวิชาการหน่วยงานหนึ่งในสถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา และเป็นสถาบันที่ให้การสนับสนุนการศึกษาทางคลินิกของ remdesivir ใน ACTT แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่าด้วยประโยชน์อย่างมีนัยสำคัญของ remdesivir ที่พบได้จากผลลัพธ์เบื้องต้นของ ACTT จึงทำให้ยาต้านไวรัสตัวนี้จะเป็นมาตรฐานการรักษาสำหรับคนไข้ติดเชื้อไวรัส COVID-19
อนึ่ง remdesivir เป็นยาต้านไวรัสกลุ่มใหม่ที่เรียกว่า direct acting antivirals (DAAs) ที่มีกลไกการออกฤทธิ์ในการยับยั้งกระบวนการสังเคราะห์ RNA-dependent RNA polymerase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่จำเป็นต่อการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัส โดย remdesivir กำลังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาทดลองทางคลินิกและยังไม่ได้รับการรับรองในข้อบ่งใช้ใด ๆ ทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม ผลจากการศึกษาทดลองในห้องปฏิบัติการและในสัตว์ทดลอง พบว่า remdesivir มีผลในการยับยั้งเชื้อไวรัสโคโรนาทั้งสายพันธุ์ที่เป็นสาเหตุของกลุ่มอาการทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (severe acute respiratory syndrome) หรือโรคซาร์ส, สายพันธุ์ที่เป็นสาเหตุของกลุ่มอาการทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (Middle East respiratory syndrome) และสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ COVID-19 ที่เป็นสาเหตุของกลุ่มอาการทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19
ขณะที่ในรัสเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 มากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกาและบราซิล (จากข้อมูล ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2563 ของกระทรวงสาธารณสุขรัสเซีย มียอดผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในรัสเซียจำนวนทั้งสิ้น 405,843 คน) เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2563 นาย Kirill Dmitriev ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (Chief Executive Officer) หรือ CEO ของ Russian Direct Investment Fund (RDIF) ซึ่งเป็นกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของรัสเซีย ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า หลังจากเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2563 กระทรวงสาธารณสุขของรัสเซียได้ให้การรับรองแบบเร่งรัดต่อยา favipiravir ที่ขึ้นทะเบียนยาในชื่อทางการค้าว่า Avifavir บริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่าย Avifavir คือ ChemRar Group จะเริ่มกระจาย Avifavir ไปให้กับโรงพยาบาลต่าง ๆ เพื่อใช้รักษาคนไข้ที่ติดเชื้อ COVID-19 นับตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป โดยในเบื้องต้น ChemRar Group จะสามารถผลิตยา Avifavir ได้เพียงพอสำหรับการใช้รักษาผู้ติดเชื้อ COVID-19 จำนวน ถึงราว ๆ 60,000 คนต่อเดือน และหลังจากสามารถผลิตยา Avifavir ตอบสนองต่อความต้องการในรัสเซียได้อย่างเพียงพอแล้ว ChemRar Group มีแผนการที่จะผลิตยาต้านเชื้อ COVID-19 ตัวนี้เพื่อส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศด้วย
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ RDIF ซึ่งเป็นผู้ร่วมทุนหรือผู้ให้การสนับสนุนทางการเงินรายใหญ่ของ ChemRar Group ในการพัฒนาและผลิตยา Avifavir เปิดเผยในรายละเอียดว่า ChemRar Group ได้รับอนุญาตให้นำสูตรตำรับยา favipiravir ที่มีชื่อทางการค้าในญี่ปุ่นว่า Avigan จากบริษัท Fujifilm ผู้ถือลิขสิทธิ์สูตรตำรับยา favipiravir มาพัฒนาต่อยอดและผลิตในรัสเซีย โดย Avigan ได้รับการรับรองในญี่ปุ่นสำหรับใช้รักษาคนไข้โรคไข้หวัดใหญ่ที่มีอาการรุนแรงมาตั้งแต่ปี ค.ศ.2014 สำหรับการศึกษาทางคลินิกของ favipiravir ในรัสเซีย สามารถลดระยะเวลาในการทดสอบทางคลินิกให้สั้นลง เนื่องจากสูตรต้นตำรับของยา favipiravir ผ่านการศึกษาทางคลินิกในญี่ปุ่นมาแล้วเป็นอย่างดี และเป็นต้นตำรับยา favipiravir ที่ได้รับการรับรองใช้ในญี่ปุ่นสำหรับรักษาโรคไข้หวัดใหญ่มาตั้งแต่ปี ค.ศ.2014 และนักวิทยาศาสตร์ในรัสเซียได้นำสูตรต้นตำรับของของยา favipiravir มาปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น โดยคณะนักวิทยาศาสตร์ในรัสเซียพร้อมจะแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการปรับปรุงสูตรต้นตำรับของยา favipiravir ให้กับประเทศอื่น ๆ ที่สนใจในเร็ว ๆ นี้
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ RDIF กล่าวว่า ผลการศึกษาทางคลินิกในมนุษย์ในระยะต้น ๆ ของยา favipiravir ที่ทำในรัสเซีย พบว่า ได้ผลดีมาก โดย 4 วัน หลังจากคนไข้ติดเชื้อ COVID-19 จำนวน 40 คน ที่ได้รับยา favipiravir ในรูปยาเม็ดสำหรับรับประทาน พบว่า 65% มีผลตรวจเชื้อ COVID-19 เป็นลบ ซึ่งมากกว่าถึงประมาณ 2 เท่า เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ได้รับ standard therapy และหลังจากผ่านไป 10 วัน 90% ของกลุ่มคนไข้ติดเชื้อ COVID-19 ที่ได้รับ favipiravir มีผลตรวจเชื้อ COVID-19 เป็นลบ ดังนั้น โดยรวมแล้วยา favipiravir มีประสิทธิภาพมากกว่า 80% ในการกำจัดเชื้อ COVID-19 และไม่มีรายงานของผลข้างเคียงหรืออุบัติการณ์ไม่พึงประสงค์ใหม่ ๆ ที่น่ากังวลเกิดขึ้นกับคนไข้ติดเชื้อ COVID-19 ที่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสตัวนี้ในการศึกษาทางคลินิก สำหรับการศึกษาทางคลินิกในมนุษย์ระยะสุดท้ายของยา favipiravir ในคนไข้ติดเชื้อ COVID-19 จำนวนประมาณ 300 ราย กำลังดำเนินการอยู่