วิกฤติ COVID-19 ที่ต่อเนื่อง และยาวนานจนเข้าสู่ปีที่ 3 ทำให้ทุกประเทศต้องหาทางออกเพื่อ "อยู่กับ COVID-19" ได้อย่างยั่งยืน
เมื่อเร็วๆ นี้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะหนึ่งในคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model สาขายาและวัคซีน ซึ่งเป็น 1 ใน 10 เป้าหมายของยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการพัฒนาโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio – Economy เศรษฐกิจชีวภาพ – Circular Economy เศรษฐกิจหมุนเวียน – Green Economy เศรษฐกิจสีเขียว) ของประเทศไทย ได้ร่วมประชุมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับคณะทำงานจาก 21 ประเทศกลุ่มสมาชิกความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก APEC (Asia-Pacific Economic Cooperation) โดยได้กล่าวถึงแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤติ COVID-19 เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการระบาดระลอกใหม่อย่างยั่งยืนว่า ภาคส่วนต่างๆ รวมทั้งมหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะที่เป็นสถาบันอุดมศึกษาหลักของประเทศ จะต้องเป็นหนึ่งในองค์กรหลักสำคัญที่จะต้องร่วมผลักดันนโยบาย BCG โดยมหาวิทยาลัยมหิดลสามารถใช้ศักยภาพที่มีอยู่ในการช่วยพัฒนาเศรษฐกิจแบบ BCG ในคลัสเตอร์ เช่น ด้านอาหารและการเกษตร (Food and Agriculture) รวมไปถึงด้านการแพทย์และสุขภาพ (Medical and Wellness)
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา ได้เน้นย้ำว่า การสร้างความมั่นคงและการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ จะต้องให้ความสำคัญเรื่องการสร้างมูลค่าเพิ่ม (value creation) ผ่านกระบวนการใช้เทคโนโลยีข้ามศาสตร์ การนำกลับมาใช้ใหม่ (recycle) และการสร้างมูลค่าให้กับวัสดุเหลือใช้ (upcycle) การใช้วัสดุให้เกิดประโยชน์สูงสุด (maximum life cycle usage) และการลดปริมาณขยะให้เป็นศูนย์ (zero-waste)
ภายใต้นโยบาย BCG นี้ มหาวิทยาลัยมหิดลสามารถร่วมสร้างมูลค่าเพิ่มในด้านอาหารและการเกษตร ผ่านการพัฒนาโภชนเภสัช การใช้เทคโนโลยีชีวภาพ การเพิ่มผลผลิต และการทำการเกษตรแม่นยำสูง และในด้านการแพทย์และสุขภาพ ได้มุ่งเน้นไปสู่การแพทย์แม่นยำสูง เทคโนโลยีจีโนมิกส์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพร และสมุนไพรที่มีสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ รวมไปถึงการส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางทางด้านการแพทย์ (medical hub) เป็นต้น
ในกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก (เอเปค) การส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศก็เป็นอีกองค์ประกอบที่สำคัญ โดยการสร้างองค์ความรู้ การสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ การเคลื่อนย้ายบุคลากรศักยภาพสูง ซึ่งดำเนินการควบคู่ไปกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงที่จะทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่เชื่อมโยงกับความมั่นคงด้านอาหาร ความมั่นคงด้านสุขภาพ ความมั่นคงด้านพลังงาน ความมั่นคงด้านอาชีพและระบบนิเวศที่ยั่งยืน
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา ยังได้ร่วมถอดบทเรียนความสำเร็จจากงานวิจัยต่างๆ ที่ผ่านมาของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งหนึ่งในงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง คือ การได้ร่วมกับ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS ที่ได้ค้นพบสารสกัด Panduratin A และ Pinostrobin ในพืชสมุนไพรกระชายขาวของไทย ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อไวรัส COVID-19 ในหลอดทดลอง และในเวลาต่อมาได้ร่วมกับภาคเอกชนต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ซึ่งสามารถขยายผลสู่ความร่วมมือกับชุมชนให้เกิดความยั่งยืนทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยได้ยกตัวอย่างชุมชนจังหวัดน่าน ซึ่งกำลังประสบปัญหาพื้นที่ป่าถูกทำลาย จากการบุกรุกเพื่อทำการเกษตรปลูกข้าวโพดป้อนโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งใช้พื้นที่มาก แต่ให้ผลตอบแทนที่ไม่คุ้มค่า โดยทำให้พื้นที่ป่าลดลงถึงร้อยละ 28 จึงได้มีการริเริ่มโครงการรักษ์ป่าน่าน และพัฒนาสู่ "น่านแซนด์บอกซ์" ตามแนวคิดของ คุณบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกิตติคุณ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อพลิกฟื้นผืนแผ่นดินป่าซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน
จากความร่วมมือระหว่างชาวชุมชนจังหวัดน่าน ภาครัฐ ภาคเอกชน และนักวิจัยจากสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งรวมทั้งมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ผ่านมาได้มีการวางแผนปลูกป่าในอัตราส่วน ต้นไม้ 100 ต้น ต่อพื้นที่ 1 ไร่ โดยใช้พื้นที่ว่างระหว่างต้นไม้แต่ละต้นทำประโยชน์ด้วยการปลูกพืชเศรษฐกิจที่มีคุณค่าซึ่งสามารถเติบโตใต้ร่มไม้ใหญ่ ได้แก่ พืชสมุนไพรกระชายขาวที่มีฤทธิ์ยับยั้ง COVID-19
นอกจากนี้ยังได้มองไปถึงการส่งเสริมปลูกพืชสมุนไพรขมิ้นชัน ซึ่งเป็นที่ยอมรับในตลาดของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียว่าเป็นพืชสมุนไพรที่มีสาร "เคอร์คูมินอยด์" (Curcuminoid) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มากด้วยสรรพคุณทางยา สามารถนำไปแปรรูปสู่เวชภัณฑ์ต่อไปได้อีกมากมาย
ไม่ว่าวิกฤติ COVID-19 จะต่อเนื่องและยาวนานเพียงใด มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมยืนหยัดทำหน้าที่ "ปัญญาของแผ่นดิน" มุ่งมั่นพัฒนางานวิจัยเพื่อสร้างสรรค์องค์ความรู้สู่หนทางรอดของประเทศชาติ และมวลมนุษยชาติต่อไป
ข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร