จะเป็นอย่างไรเมื่อช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตมาถึง แต่ผู้ป่วยเองกลับไม่มีโอกาสเลือกหรือร้องขอ สิ่งที่ได้กลับเป็นสิ่งที่ไม่ต้องการ จะดีกว่าไหมถ้าจะมีสิ่งใดที่สามารถ "พูดแทนใจ" เมื่อใกล้ถึงวันซึ่งไม่อาจยื้อชีวิต
รองศาสตราจารย์ ดร.สุชิรา ชัยวิบูลย์ธรรม รองผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล และอาจารย์พยาบาลสาขาวิชาการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในฐานะผู้ริเริ่มการเรียนการสอนรายวิชาออนไลน์ "การพยาบาลแบบประคับประคอง" เพื่อการ Upskill - Reskill พยาบาลวิชาชีพทาง MUx ว่า แม้ว่าประเทศไทยจะมีการประกาศใช้มาตรา 12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อให้บุคคลสามารถแสดงเจตนาไว้ล่วงหน้าว่า เมื่อถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ขอจากไปตามธรรมชาติโดยไม่ประสงค์จะยืดความตายออกไป
อีกทั้ง สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้ประกาศ เรื่อง มาตรฐานการวางแผนการดูแลล่วงหน้าสำหรับประเทศไทย (Thai Standards for advance care planning) พ.ศ.2565 เป็นเวลากว่าหนึ่งเดือนแล้ว แต่คนไทยส่วนใหญ่ก็ยังคงไม่ทราบถึงมาตรฐานสิทธิในการวางแผนจัดการชีวิตตัวเองล่วงหน้าดังกล่าว
ซึ่งประกาศดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังจากที่มีการสอบถามความคิดเห็นไปยังสภาวิชาชีพต่างๆ รวมทั้งสภาการพยาบาล โดย รองศาสตราจารย์ ดร.สุชิรา ชัยวิบูลย์ธรรม ได้เป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการดำเนินงานเกี่ยวกับการวางแผนการดูแลล่วงหน้าของสภาการพยาบาล
ซึ่งการตัดสินใจเลือกแนวทางในการดูแลตัวเองล่วงหน้า สามารถทำได้ทั้งภายใน และนอกโรงพยาบาล โดยผู้ทำแผนการดูแลล่วงหน้าสามารถทำได้ด้วยตนเอง หากมีผู้ร่วมทำแผนด้วย ควรระบุชื่อผู้ที่ร่วมทำ หากทำในโรงพยาบาล จะต้องมีการวางแผนร่วมกันระหว่างผู้ป่วย ญาติ และแพทย์ผู้ให้การรักษา
ข้อดี คือ จะทำให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่เหมาะสมบรรเทาอาการเจ็บปวดทุกข์ทรมาน เพิ่มความสุขสบาย และครอบครัวจะได้รับการดูแลต่อเนื่อง แม้ผู้ป่วยจากไปแล้ว เพื่อช่วยให้ปรับตัวได้จากการสูญเสีย อีกทั้งช่วยลดงบประมาณที่จะต้องเตรียมการสำหรับค่าใช้จ่ายในการรับการรักษาที่เกินความจำเป็น หากแต่จะยืดระยะเวลาทุกข์ทรมานให้กับผู้ป่วยให้เนิ่นนานออกไป ทั้งๆ ที่ผู้ป่วยไม่ต้องการ
"จริงๆ แล้ว อยากให้คนไทยทุกคนใส่ใจเรื่อง advance care plan ซึ่งไม่จำเป็นเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หรือผู้สูงวัย แต่ทุกคนสามารถทำได้ตอนยังมีสุขภาพดี ซึ่งการวางแผนการดูแลล่วงหน้าสามารถปรับเปลี่ยนในภายหลังได้ตามความเหมาะสม โดยจะมีการดำเนินการตามการวางแผนล่าสุด" รองศาสตราจารย์ ดร.สุชิรา ชัยวิบูลย์ธรรม กล่าว
สำหรับหลักการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองที่เลือกดูแลตัวเองที่บ้าน รองศาสตราจารย์ ดร.สุชิรา ชัยวิบูลย์ธรรม ได้กล่าวแนะนำว่า ถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดที่ผู้ป่วยจะได้อยู่ใกล้ชิดครอบครัว และบุคคลที่รัก ตลอดจนได้ทำในสิ่งที่ตนเองตั้งใจก่อนจากโลกนี้ไปด้วย "ศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์" จึงควรเลือกวิธีที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดความสงบ และสบายใจให้มากที่สุด
สำหรับรายวิชา "การพยาบาลแบบประคับประคอง" ที่โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดขึ้นเพื่อการ Upskill - Reskill พยาบาลวิชาชีพ ทาง MUx นี้ เป็นการจัดอบรมออนไลน์โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย พร้อมรับ e-certificate เมื่อผ่านตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยจะเน้นที่การสื่อสารเพื่อการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง และการสื่อสารกับญาติของผู้ป่วย ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะแห่งความเศร้าโศก และสูญเสีย
พยาบาลผู้ทำหน้าที่ดูแลควรได้รับการฝึกทักษะเฉพาะด้านเพื่อการจัดการที่เหมาะสมที่สุด รวมทั้งควรศึกษากฎหมายและจริยธรรมที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนแนวปฏิบัติที่ควรทราบต่างๆ ติดตามรายละเอียดและสมัครได้ทาง https://mux.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
ออกแบบแบนเนอร์โดย วรรณพร ยังศิริ นักวิชาการสารสนเทศ