ยืนยันความพร้อม 1 ม.ค.นี้ 'โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม'

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ประธานพัฒนาระบบบริการสุขภาพสาขาโรคมะเร็ง เผยความพร้อมนโยบาย "โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม" ช่วยประชาชนเข้าถึงบริการได้เบ็ดเสร็จภายในเขตสุขภาพ ส่ง "เครื่องฉายแสง" กระจายลงไปทุกภูมิภาค เชื่อมโยงข้อมูล-ลดระยะเวลารอ

          พญ.โศรยา ธรรมรักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service plan) สาขาโรคมะเร็ง กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า นับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2564 เป็นต้นไป การจัดระบบบริการโรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อมสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) จะทำให้ประชาชนทั่วประเทศสามารถเข้าถึงการให้บริการโรคมะเร็งที่เบ็ดเสร็จได้ภายในเขตสุขภาพ
          เดิมในอดีตจะเห็นได้ว่าเมื่อผู้ป่วยเป็นมะเร็ง ไม่ว่าอยู่จังหวัดไกลเพียงใดมักจะต้องวิ่งเข้ามาที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ทั้งหมด รวมถึงด้วยระยะเวลารอคอยคิวที่ยาวนาน ก็ยิ่งทำให้อาการของผู้ป่วยทรุดลงไปด้วย ทว่าการจัดระบบบริการที่เกิดขึ้นใหม่นี้ จะเข้ามาเติมเต็มศักยภาพทั้งในด้านของทรัพยากรและบุคลากรของหลายๆ พื้นที่ และจะสามารถให้บริการได้แบบเบ็ดเสร็จในเขตสุขภาพ
          ทั้งนี้ ตัวอย่างเรื่องของอุปกรณ์เทคโนโลยีสูง เช่น ระบบการฉายแสง ซึ่งในอดีตมีความขาดแคลนเป็นอย่างมาก แต่ปัจจุบันได้มีการปรับขึ้นมาอย่างชัดเจน โดยเฉพาะช่วงปีที่ผ่านมาซึ่งรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้สนับสนุนเครื่องฉายแสงกระจายไปในทุกภูมิภาค รวมแล้วอย่างน้อย 8 เครื่องในจังหวัดต่าง ๆ เช่น นครศรีธรรมราช ร้อยเอ็ด เป็นต้น ซึ่งจะเพิ่มการเข้าถึงให้กับผู้ป่วยได้อย่างมาก
          ขณะเดียวกันใน เรื่องของระบบคิวก็ถูกพัฒนาในทิศทางเดียวกับแอปพลิเคชันสมัยใหม่ ซึ่งจะทราบได้ว่าในแต่ละโรงพยาบาลมีคิวยาวมากน้อยเพียงใด ทำให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ประสานงานสามารถบริหารจัดการคิวให้กับผู้ป่วยเพื่อลดความแออัดได้ โดยอาจขยับเปลี่ยนให้ผู้ป่วยไปยังหน่วยบริการที่มีคิวสั้นกว่า แต่ยังคงไม่ต้องไปไกลบ้าน แตกต่างจากเดิมในอดีตที่ผู้ป่วยจะต้องถือใบส่งตัวไปยังที่ต่าง ๆ โดยที่ยังไม่รู้ว่าจะได้รักษาหรือไม่
          ในส่วนของความพร้อมดำเนินการในวันที่ 1 ม.ค.ที่จะถึง ขณะนี้ สธ.ได้พัฒนาระบบหลังบ้านที่เชื่อมโยงการสื่อสารของหน่วยบริการ โดยใช้ระบบไอทีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการ และกระจายไปยังโรงพยาบาลในสังกัด สธ.ทุกพื้นที่ ดังนั้นในช่วงแรกโรงพยาบาลขนาดใหญ่จึงจะเดินหน้าระบบได้เรียบร้อย ส่วนโรงพยาบาลขนาดเล็กก็จะค่อยๆ มีการปรับตัวต่อไป
          ในการรักษาโรคมะเร็งนั้น การใช้เวลาสั้นจะทำให้ระยะของโรคไม่เดินหน้า ฉะนั้นถ้าได้รับการจัดการเร็วก็จะทำให้ผลการรักษาดีขึ้น ซึ่งตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีผลการดำเนินงานโรคมะเร็งที่ดี มีการตรวจพบโรคมะเร็งในระยะท้ายจำนวนน้อยมาก รวมถึงปัจจุบันเมื่อเป็นมะเร็งเต้านมก็สามารถได้รับการผ่าตัดภายในไม่เกิน 3-4 สัปดาห์ทั้งสิ้น
          "ที่ผ่านมาการให้บริการงานด้านมะเร็งของประเทศไทยได้มีการพัฒนามาอย่างยาวนาน แต่ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาได้เกิดการ disruption ที่ทำให้บริการงานด้านมะเร็ง รวมถึงโรคอื่น ๆ มีการขยับอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะจากวิกฤตของโควิด-19 ได้เข้ามาเพิ่มการให้บริการหลายอย่างที่ไม่สามารถให้บริการได้ด้วยระบบปกติ" พญ.โศรยา กล่าว
          อย่างไรก็ตามการป้องกันมะเร็งนั้นย่อมดีกว่าการรักษา จึงอยากให้ความสำคัญกับการสื่อสาร เช่น การรณรงค์เรื่องอาหารปลอดภัย เรื่องการออกกำลังกาย หรือการลดฝุ่น PM2.5 เพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคปอด เป็นต้น รวมถึงการให้ความสำคัญกับการคัดกรองโรคมะเร็ง ที่ปัจจุบันสามารถทำได้แม้ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ใกล้บ้าน ซึ่งการพบมะเร็งในระยะต้นและได้รับการรักษาเร็ว ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายได้
          แม้ขณะนี้นโยบายจะเริ่มต้นกับผู้ป่วยสิทธิบัตรทองก่อน แต่สำหรับสิทธิการรักษาอื่น ๆ ก็จะตามมาในภายหลัง อย่างไรก็ตามประโยชน์ที่ผู้ป่วยทุกสิทธิจะได้รับ คือการลดระยะเวลารอคอยคิวในโรงพยาบาล ลดภาระการเดินทางได้ และนโยบายนี้ก็จะไม่ได้หยุดอยู่ที่โรคมะเร็ง แต่ระบบบริการสุขภาพของไทยยังจะมีการเดินหน้าในอีกหลายมิติเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะโรคหัวใจ โรคเส้นเลือดสมองตีบ เป็นต้น ซึ่งการเข้าถึงบริการที่ดี ก็จะทำให้ผลการรักษาดีขึ้นด้วย