กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จ.นนทบุรี ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นางสุพัชรี ธรรมเพชร ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข คณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และผู้บริหารกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมพิธีเปิดศูนย์รวมบริการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตามนโยบายของรัฐบาล เพื่ออำนวยความสะดวกในการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว แก่ผู้มาใช้บริการทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชน กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงได้จัดตั้งศูนย์รวมบริการ One Stop Service Center เป็นหน่วยงานภายในขึ้น ตั้งแต่ปี 2548 เพื่อให้เป็นหน่วยบริการรับตัวอย่างตรวจวิเคราะห์ ณ จุดเดียว ให้กับผู้รับบริการในการติดต่อและ นำส่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์สุขภาพตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตั้งแต่การขอรับคำปรึกษาการส่งตัวอย่าง การยื่นคำขอ การขอรับใบอนุญาตรับรอง และการชำระค่าธรรมเนียมการตรวจวิเคราะห์ ทำให้ผู้รับบริการสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว สำหรับการให้บริการรับตัวอย่างผลิตภัณฑ์สุขภาพและ ขอรับรายงานผลการตรวจวิเคราะห์ ผลิตภัณฑ์ที่ส่งตรวจ ได้แก่ อาหาร ยา สมุนไพร วัคซีน ชีววัตถุ เครื่องสำอาง วัตถุอันตรายที่ใช้ทางการสาธารณสุข ผลิตภัณฑ์รังสีและเครื่องมือแพทย์ นอกจากนี้หากผู้ส่งตัวอย่างต้องการปรึกษาข้อมูลด้านวิชาการจะมีนักวิชาการจากห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องให้คำปรึกษาเฉพาะผลิตภัณฑ์ เป็นต้น
ดร.สาธิต กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาศูนย์รวมบริการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีการให้บริการรับตัวอย่าง โดยเฉลี่ยมากกว่า 50,000 ตัวอย่างต่อปี ต่อมาในปี 2563 มีการปรับปรุงอาคารสถานที่ให้บริการทั้งหมด และได้เพิ่มจุดบริการอื่นๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้มารับบริการและเจ้าหน้าที่ ประกอบด้วย ร้านค้าสวัสดิการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ไปร่วมพัฒนา ยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ และสินค้านวัตกรรมอื่นๆ ที่คิดค้นโดยนักวิจัยของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร้านค้าองค์การเภสัชกรรม ร้านกาแฟ และเพิ่มพื้นที่ในส่วน Co-working space สำหรับการนั่งทำงาน พูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หรือใช้ปฏิบัติงานภายนอกห้องปฏิบัติการ โดยสนับสนุนระบบสัญญาณ wifi เป็นต้น
“ปัจจุบันได้เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการรับตัวอย่าง เพื่อตรวจวิเคราะห์โดยผ่านระบบออนไลน์ ที่เรียกว่า ไอ แล็บ พลัส (iLab Plus) เพื่อจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการตรวจวิเคราะห์ และรายงานผลวิเคราะห์ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-report) ทำให้การบริการรวดเร็ว ลดระยะเวลาในการเดินทางมาติดต่อส่งตัวอย่างและรับผลวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์” ดร.สาธิต กล่าว