แนะผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ดูแลตนเองอย่างไร...ให้ห่างไกลโรคไต


กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคทรวงอก แนะผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ดูแลไตของตนเอง ลดปัจจัยเสี่ยงภาวะหลอดเลือดแข็งตัว ห่างไกลโรคไตเรื้อรัง
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ไต เป็นอวัยวะที่มีรูปร่างคล้าย ถั่วแดง ขนาดเท่ากำปั้นอยู่บริเวณบั้นเอวทั้ง 2 ข้าง ไตมีหน้าที่กรองน้ำ และกำจัดของเสียรวมทั้งสารพิษออกจากร่างกาย ควบคุมสมดุลปริมาณน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย ตลอดจนควบคุมภาวะความเป็นกรด-ด่างในเลือด สร้างฮอร์โมน Erythropoietin ที่สำคัญต่อการสร้างเม็ดเลือดแดง และวิตามินดีที่เกี่ยวข้องกับกระดูก รวมทั้งกำจัดสารพิษและยาที่ได้รับออกจากร่างกาย ไตจึงเป็นอวัยวะที่สำคัญมาก เราจึงควรดูแลสุขภาพให้ดี หากไตในร่างกายมีความผิดปกติ อาจเป็นจุดเริ่มต้นของโรคไตเรื้อรังได้ ผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคไตเรื้อรัง ได้แก่ ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคเก๊าท์ โรคหัวใจและหลอดเลือด ผู้ที่มีไตอักเสบชนิดต่างๆ และ/หรือทางเดินปัสสาวะอักเสบและติดเชื้อ ผู้ที่ใช้ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคไต และผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งในปัจจุบันนี้โรคไตเรื้อรัง เป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญของประเทศไทย
นายแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคไตเรื้อรังเป็นภาวะที่ไตทำงานได้ลดลง หรือไตมีภาวะผิดปกติ เช่น มีโปรตีนรั่วในปัสสาวะ หรือมีความผิดปกติทางรังสีวิทยา ส่งผลให้เนื้อไตถูกทำลายอย่างถาวร ทำให้ไตค่อยๆ ฝ่อเล็กลง แม้อาการจะสงบ แต่ไตจะค่อยๆเสื่อม และเข้าสู่ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตโดยตรง ซึ่งไตเรื้อรังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถชะลอการเสื่อมได้ โดยจำนวนผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังพบมากขึ้นและสาเหตุของการเสียชีวิตของผู้ป่วยไตเรื้อรัง มักเกิดจากโรคหัวใจและหลอดเลือด เนื่องจากผู้ที่ป่วยเป็นโรคไตในระยะเวลานาน จะทำให้ไตเสื่อมไม่สามารถขับของเสียและสารพิษออกจากร่างกายได้ ส่งผลให้หัวใจทำงานหนักทำให้เกิดโรคหัวใจได้ อีกทั้งผู้ที่ป่วยโรคหัวใจเป็นระยะเวลานานเมื่อเกิดภาวะหัวใจวายระบบไหลเวียนเลือดผิดปกติ เลือดไปเลี้ยงไตไม่สม่ำเสมอ ก็จะทำให้การทำงานของไตผิดปกติจนนำไปสู่โรคไตได้เช่นกัน จึงเห็นได้ว่า 2 โรคนี้เป็นโรคที่มีความเกี่ยวข้องกันจากการมีภาวะความผิดปกติของหลอดเลือดที่แข็งตัว ผู้ป่วยโรคไตมักจะมีอาการ ดังนี้ 1. บวมตามร่างกาย 2. ปัสสาวะแสบขัด ลักษณะสีและปัสสาวะ มีความผิดปกติ เช่น ขุ่น เป็นฟอง เป็นเลือด สีชาแก่ สีเป็นน้ำล้างเนื้อ 3. ร่างกายซีด และอ่อนเพลีย ดังนั้นเพื่อป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคไต จึงจำเป็นต้องลดปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแข็งตัว ดังนี้ 1. หากมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยต้องพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ 2. ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง และเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง 3. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสเค็ม และหลีกเลี่ยงการใช้ยา และสารพิษต่างๆติดต่อกันเป็นเวลานาน 4. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ 5. หลีกเลี่ยงการกลั้นปัสสาวะนานๆ หรือการสวนปัสสาวะ เพราะจะทำให้เชื้อโรคเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะและเกิดการอักเสบได้ 6. งดการสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกฮออล์ทุกประเภท 7. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและพักผ่อนให้เพียงพอ