สิ่งที่น่ากลัวกว่า "Pandemic" หรือ โรคระบาด คือ "Infodemic" หรือ ข้อมูลข่าวลวงเกี่ยวกับโรคระบาดในประชาชน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อุ่นใจ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า หน้าที่ของนักวิทยาศาสตร์ ไม่ได้มีเพียงแค่งานวิจัย แต่รวมถึงการให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่สังคม และคอยผลักดันสังคมให้ "ขับเคลื่อนด้วยความรู้"
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อุ่นใจ ได้เปิดเผยถึงเคล็ดลับในการเขียนและวิจารณ์เพื่อสื่อสารวิทยาศาสตร์ จากประสบการณ์สอน ประพันธ์-แปลหนังสือและบทความทางวิทยาศาสตร์กว่า 300 เรื่อง ในช่วงเวลากว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมาว่า สำคัญที่การตีความทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งไม่ควรเป็นไปในทิศทางเดียว ควรอาศัยความรู้รอบด้านมาใช้ในการอธิบาย เพื่อนำไปสู่การประยุกต์ใช้ได้อย่างกว้างขวาง
การเขียนและวิจารณ์ทางวิทยาศาสตร์ควรนำเสนอข้อมูลที่แตกต่างหลากหลาย เพื่อให้ประชาชนได้เลือกตัดสินใจ ซึ่งวิธีการนำเสนอของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อุ่นใจ เป็นการ "มองต่างมุม" หรือให้มุมมองที่แตกต่างหลากหลาย จากการพยายามหยิบยกข้อถกเถียงทางวิชาการทั้งเก่าและใหม่มาเปรียบเทียบกันด้วยเหตุและผล ซึ่งล้วนเป็นไอเดียที่ชวนติดตาม โดยให้ผลลัพธ์ที่ได้จากงานวิจัย (Result) เป็นตัวตัดสิน
"การที่เราอ่านเยอะ จะทำให้เรามีความรู้กว้างขวาง และรอบคอบมากขึ้น ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งในงานเขียนและวิจารณ์วิทยาศาสตร์เชิงลึก โดยจะทำให้สามารถพิจารณาข้อถกเถียงทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ ได้อย่างลึกซึ้ง และสามารถชี้ให้ผู้อ่านเห็นได้ว่าอะไรที่เป็นจุดแข็ง-จุดอ่อนของงาน งานนี้บอกอะไรได้ หรือบอกอะไรไม่ได้"
"สิ่งที่อยากเห็น คือ การคุยกันด้วยเหตุผล และด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง ไม่ใช่เพียงจากมโนคติ นอกจากนี้ควรตีความโดยคำนึงถึงประเด็นทางจริยธรรมร่วมด้วย ขอเป็นกำลังใจให้นักวิทยาศาสตร์ไทยที่มุ่งมั่นมอบองค์ความรู้ที่เป็นประโชน์ต่อสังคม ร่วมขับเคลื่อนสังคมไทยสู่สังคมคุณภาพต่อไป" ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อุ่นใจ กล่าวทิ้งท้าย
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
ออกแบบแบนเนอร์โดย วรรณภา อินทรประเสริฐ นักวิชาการโสตทัศนศึกษา