สปสช.จัดรับฟังความคิดเห็นปี 2565 ประเดิม ‘กลุ่มชาติพันธุ์’ เล็งสร้างเครือข่ายกลุ่มชนเผ่าเป็นศูนย์ประสานงานสิทธิบัตรทองภาคประชาชน

สปสช.ลงพื้นที่ ต.คลองลานพัฒนา จ.กำแพงเพชร จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นสิทธิบัตรทองใน “กลุ่มชาติพันธุ์” ประจำปี 2565 ด้านตัวแทน 6 ชนเผ่าร่วมให้ข้อเสนอปรับปรุงบริการ-สิทธิประโยชน์ พร้อมเล็งสร้างเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์เป็นศูนย์ประสานงานบัตรทองภาคประชาชน กระจายความรู้-สร้างความเข้าใจ-เพิ่มการเข้าถึง


นพ.รัฐพล เตรียมวิชานนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะเลขานุการคณะทำงานรับฟังความคิดเห็นสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ พร้อมด้วย นพ.วงษ์สวัสดิ์ ตันวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการ สปสช. เขต 3 นครสวรรค์ และคณะทำงาน ลงพื้นที่ ต.คลองลานพัฒนา อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร เพื่อรับฟังความคิดเห็นในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ในกลุ่มชาติพันธุ์ โดยมีตัวแทนจากกลุ่มชาติพันธุ์ 6 ชนเผ่า รวม 35 คน เข้าให้ความคิดเห็นในประเด็นการเข้าถึงบริการ มาตรฐานบริการ และประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาล


สำหรับการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวเป็นไปตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 มาตรา 18 (10) และมาตรา 18 (13) ที่กำหนดให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กำหนดหลักเกณฑ์ รวมถึงจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับผู้ให้บริการและผู้รับบริการเป็นประจำทุกปี เพื่อประโยชน์ในการปรับปรุงคุณภาพ และมาตรฐานบริการสาธารณสุข


นพ.รัฐพล เปิดเผยว่า การรับฟังความคิดเห็นสิทธิบัตรทองที่ ต.คลองลานพัฒนา ในพื้นที่เขต 3 นี้ถือเป็นครั้งแรกของปีงบประมาณ 2565 ซึ่งเป็นการปฏิรูปการจัดกิจกรรมเวทีรับฟัง ที่เน้นในเรื่องความสำคัญหรือเนื้อหาในการรับฟังความคิดเห็น โดยที่ผ่านมาจะมีประมาณ 2,000-3,000 เรื่อง ซึ่งในบางเรื่องอาจเป็นการปรับปรุงการให้บริการภายในพื้นที่ ส่วนบางเรื่องอาจสามารถนำไปพัฒนาเป็นข้อเสนอ เพื่อผลักดันสู่นโยบายหรือพัฒนาเป็นสิทธิประโยชน์ในภาพใหญ่ได้


“สำหรับความเห็นของตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ในครั้งนี้ ปัญหาหลักส่วนใหญ่คือการเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่ยังไม่ทั่วถึง และประเด็นของความเชื่อดั้งเดิมในบางชนเผ่าที่ส่งผลต่อการรับบริการสาธารณสุข ซึ่งส่วนนี้เราก็ต้องไปพัฒนาและออกแบบระบบเพื่อให้ความเข้าใจในการเข้ารับบริการ อีกทั้งข้อเสนอต่างๆ ที่ได้รับมา เช่น การขอให้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้ครอบคลุมทุกวัย ช่วยเหลือผู้ที่ไม่มีบัตรประชาชน รวมถึงการสื่อสารระหว่างผู้ป่วยที่เป็นผู้สูงอายุในชนเผ่า กับผู้ให้บริการ อย่างในกรณีที่ผู้สูงอายุไปรับบริการแต่ไม่มีลูกหลานตามไปด้วย ก็อยากให้อธิบายการรักษา หรือการกินยาให้เข้าใจ” นพ.รัฐพล กล่าว


นพ.รัฐพล กล่าวว่า ทางคณะทำงานจะรวบรวมประเด็นต่างๆ เหล่านี้เพื่อไปดำเนินการต่อ โดยหลังจากนี้ สปสช. ก็ยังจะสร้างเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ใน อ.คลองลาน ให้มีส่วนร่วมและความเป็นเจ้าของระบบบัตรทองในบทบาทของ “ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพภาคประชาชน” และ “หน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระ จากผู้ถูกร้องเรียนตามมาตรา 50(5)” ของพื้นที่ สปสช.เขต 3 นครสวรรค์ต่อไป


“การสร้างเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อเข้าถึงระบบบัตรทอง เคยมีมาแล้วในจังหวัดต่างๆ เช่น ชนเผ่ามานิ จ.สตูล ชนเผ่าปกากะญอ อ.สังขละบุรี โดยจุดมุ่งหมายหลักของกระบวนการทั้งหมดนี้ คือทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยจะต้องได้รับการดูแล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิ คนที่อยู่ห่างไกล รวมถึงความไม่สะดวก และข้อจำกัดเรื่องความเชื่อและวัฒนธรรม ซึ่งเราจะต้องทำความเข้าใจ และต้องทำให้ระบบการรักษาพยาบาลมีคุณภาพและมาตรฐานกับทุกคน” นพ.รัฐพล กล่าว


ด้าน ดร.วิทยา ทัศนไพบูลย์ นายกเทศมนตรีตำบลคลองลานพัฒนา กล่าวว่า ในพื้นที่ ต.คลองลานพัฒนา มีประชากรทั้งหมดประมาณ 20,000 คน โดย 1 ใน 4 หรือราว 5,500 คน เป็นกลุ่มชาติพันธุ์รวม 6 ชนเผ่า ได้แก่ ลีซูหรือลีซอ, ม้ง, เมี่ยน (แม้ว), ลัวะ, ปกากะญอ (กะเหรี่ยง) และลาหู่ ซึ่งทั้งหมดมีบัตรประชาชนแล้วประมาณ 98% แต่ยังมีกลุ่มชาติพันธุ์บางส่วนที่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร์ ขึ้นต้นด้วยเลข 0 อยู่ประมาณ 40 คน ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเตรียมทำบัตรประชาชน โดยเมื่อเจ็บป่วยจะสามารถเข้ารับการรักษาได้ฟรีที่โรงพยาบาลส่งเสริมตำบล (รพ.สต.)


ดร.วิทยา กล่าวว่า อย่างไรก็ตามแม้กลุ่มชาติพันธุ์จะสามารถเข้ารับบริการการรักษาที่ รพ.สต.ได้ ช่วยให้ได้รับการดูแลด้านสุขภาพดีขึ้นมากกว่าเมื่อก่อน แต่ยังมีพี่น้องชาติพันธุ์บางส่วนที่ไม่มีความรู้เรื่องสิทธิการรักษาพยาบาล เพราะไม่ค่อยมีการใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อเข้าถึงข้อมูล รวมถึงไม่กล้าเข้าไปปรึกษากับแพทย์เนื่องจากไม่รู้ว่าตัวเองมีสิทธิ จึงต้องขอขอบคุณ สปสช. อย่างมากที่ให้ความสำคัญกับกลุ่มชาติพันธุ์ และมาให้ความรู้พร้อมรับฟังข้อเสนอในครั้งนี้


สำหรับที่ผ่านมา การเข้าถึงบริการสุขภาพของกลุ่มชาติพันธุ์จะมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ซึ่งเป็นกลุ่มคนชาติพันธุ์ด้วยกัน คอยดูแลและพาไปรักษาที่ รพ.สต. ซึ่งมีสัดส่วนการดูแลคือ 10-15 หลังคาเรือนต่อ อสม. 1 คน อย่างไรก็ตามกลุ่มชาติพันธุ์นี้ไม่ได้อยู่รวมกันทั้ง 6 ชนเผ่าทั้ง ดังนั้นแต่ละเผ่าก็จะมีสัดส่วน อสม. ตามแต่ละพื้นที่การอยู่อาศัย ฉะนั้นการที่ให้ตัวแทนของแต่ละกลุ่มได้มาบอกกล่าวถึงข้อเสนอหรือปัญหา และทาง สปสช. ก็ให้ความรู้เพื่อให้เขาได้ไปสื่อสารต่อในชนเผ่า ก็จะทำให้เข้าถึงบริการที่ทั่วถึงมากขึ้น


“อย่างเสียงสะท้อนจาก อสม. ให้ข้อมูลว่า กลุ่มชาติพันธุ์มีความเชื่อเกี่ยวกับความเจ็บป่วยแบบหนึ่ง ซึ่งทำให้เขาตัดสินใจไม่รักษา รวมถึงวัฒนธรรมของแต่ละชนเผ่าก็เป็นอุปสรรคในการทำความเข้าใจด้วย เช่น บางชนเผ่าผู้หญิงจะมีสถานะรอง การที่ อสม.เป็นผู้หญิงเข้าไปความเข้าใจกลุ่มที่เป็นผู้ชายก็จะไม่ค่อยเปิดรับ หรือบางชนเผ่าจะให้น้ำหนักกับความอาวุโสต่อความน่าเชื่อถือ ฉะนั้นการรับรู้ปัญหา รวมถึงนำข้อเสนอของทางพี่น้องชาติพันธุ์ไปพิจารณาเพื่อพัฒนาระบบบริการที่ดีขึ้นของ สปสช. จึงถือเป็นโอกาสอันดีของพื้นที่นี้” ดร.วิทยา กล่าว