นักวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล ได้รับการตีพิมพ์และอ้างอิงวิจัยสูงที่สุด Top2% ของโลก ปี 2020 มากที่สุดในประเทศไทย จากการจัดอันดับโดย Stanford University

ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)

“วิทยาศาสตร์พื้นฐาน” (Basic Sciences) เป็นรากฐานหลักของการวิจัยและนวัตกรรม โดยในปี 2022 องค์การยูเนสโก (UNESCO) กำหนดให้เป็น “ปีแห่งการวิจัยพื้นฐานเพื่อการพัฒนายั่งยืน” ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของ กระท

          “วิทยาศาสตร์พื้นฐาน” (Basic Sciences) เป็นรากฐานหลักของการวิจัยและนวัตกรรม โดยในปี 2022 องค์การยูเนสโก (UNESCO) กำหนดให้เป็น “ปีแห่งการวิจัยพื้นฐานเพื่อการพัฒนายั่งยืน” ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่ให้ความสำคัญในเรื่องการส่งเสริมงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาประเทศ โดยในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก พบว่างานวิจัยที่ได้รับการอ้างอิง (Citation) สูงส่วนใหญ่เป็นงานวิจัยที่เป็นวิทยาศาสตร์พื้นฐาน และบทความวิชาการ (review article)
          มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นมหาวิทยาลัยซึ่งมีนักวิทยาศาสตร์ที่เป็นคณาจารย์ นักวิจัย และอาจารย์อาคันตุกะได้รับการตีพิมพ์และอ้างอิงสูงที่สุด Top2% ของโลก มากที่สุดในประเทศไทย จากการจัดอันดับล่าสุดปี พ.ศ.2563 โดยมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (World's Top 2% Scientists by Stanford University 2020) ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งหนึ่งในนักวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยมหิดลภาคภูมิใจ คือ Professor Dr.Duncan Richard Smith นักไวรัสวิทยา (Virologist) ชาวอังกฤษ แห่งสถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้มีผลงานวิจัยตีพิมพ์มากถึง 230 เรื่อง
          ผลงานวิจัยส่วนใหญ่ของ Professor Dr.Duncan Richard Smith เป็นการศึกษาทางวิทยาศาสตร์พื้นฐานเกี่ยวกับเชื้อไวรัสที่มียุงเป็นพาหะ ซึ่งก่อให้เกิดโรคไข้เลือดออก โรคชิคุนกุนยา หรือ โรคไข้ปวดข้อ และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตของประชากรโลก
ในเขตร้อนชื้น โดย Professor Dr.Duncan Richard Smith กล่าวว่า ไวรัสวิทยา (Virology) เป็นหัวใจสำคัญของการมีสุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคบนโลกใบนี้ จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ไวรัสส่งผลกระทบต่อชีวิตของคนเรามากน้อยเพียงใด ซึ่งหากเราทำวิจัยด้านไวรัสวิทยาอย่างจริงจังมากเท่าไหร่ จะทำให้เราสามารถพัฒนาวัคซีนและยาใช้ได้จริงเร็วขึ้นเท่านั้น

          การจะทำให้งานวิจัยได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ จะต้องมีทักษะในการเขียนบทความภาษาอังกฤษเชิงวิชาการที่ได้มาตรฐาน ซึ่งเป็นปัญหาส่วนใหญ่ของนักวิจัยจากประเทศที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ โดย Professor Dr.Duncan Richard Smith ได้นำเอาประสบการณ์ทางด้านการเป็นนักวิจัยมามากกว่า 20 ปี และในฐานะผู้ทำงานบริหารด้านวิจัย มาบรรยายถ่ายทอดเทคนิคการเขียนบทความวิชาการที่ดี สู่นักวิจัยรุ่นใหม่ ใน "โครงการอบรมติดอาวุธนักวิจัยรุ่นใหม่" ซึ่ง กองบริหารงานวิจัย มหาวิทยาลัยมหิดล จัดมาแล้ว 6 รุ่น
          เคล็ดลับ 3 ประการที่ Professor Dr.Duncan Richard Smith ได้กล่าวฝากทิ้งท้ายไว้สำหรับนักวิจัยรุ่นใหม่ ซึ่งจะทำให้เป็นนักวิจัยที่ประสบความสำเร็จ คือ 1."Learn Your Job" 2."Love Your Job" และ 3."Build People" ซึ่งผู้ที่อยู่รอบข้างของเรา คือ ปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จยิ่งเรา “ลงทุน” กับผู้ที่อยู่รอบข้างเรามากเท่าใด เราก็จะได้รับ “การสนับสนุน” จากพวกเขามากเท่านั้น "The more you build your people, the more you will achieve."