แพทย์แผนไทยแนะ 3 วิธีบำบัดความเครียดด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย

กรมการแพทย์แผนไทย

กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แนะประชาชนนำความรู้ทางศาสตร์การแพทย์แผนไทยมาบำบัดความเครียด โดยใช้อาหารสมุนไพร สุคนธ(กลิ่น)บำบัด และการนวดไทย เพื่อลดความเครียดในสถานการณ์ปัจจุบัน
    นายแพทย์ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ในปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันคนไทยมากขึ้น ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นข่าวสารเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ข่าวการเมือง ราคาน้ำมัน ราคาทองคำ รวมถึงข่าวสารต่าง ๆ ที่ประชาชนให้ความสนใจหรือที่กำลังเป็นประเด็นในสังคมโซเชียล  ซึ่งอาจทำให้หลายๆ คนเกิดความเครียดจากการเสพสื่อดังกล่าว โดยความเครียด (stress) เป็นการตอบสนองทางสรีรวิทยา (physiological) และ ทางจิตวิทยา (psychological) ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อร่างกาย คือ มีอาการปวดกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อคอ บ่า ไหล่ มีอาการวิงเวียนศีรษะ นอนไม่หลับ ความดันโลหิตสูง และภูมิคุ้มกันต่ำ ทำให้เจ็บป่วยได้ง่าย สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวก็จะกระตุ้นให้โรคที่เป็นอยู่กำเริบได้ง่ายเช่นกัน  ส่วนผลกระทบด้านจิตใจ ทำให้โมโหง่าย อารมณ์แปรปรวน หลงลืม และถ้าปล่อยให้เกิดความเครียดเรื้อรังต่อเนื่องเป็นเวลานาน  อาจเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า หรือส่งผลให้มีปัญหาทางด้านสุขภาพจิตได้

    ในทางการแพทย์แผนไทยมีหลากหลายวิธีในการผ่อนคลายความเครียดให้ลดน้อยลง โดยขอแนะนำ 3 วิธี ลดภาวะเครียดที่ประชาชนนำไปใช้ได้อย่างปลอดภัย คือ
    วิธีที่ 1 การบำบัดความเครียดด้วยการเลือกรับประทานอาหารสมุนไพร ที่มีรสเผ็ดร้อน เช่น ขมิ้น ขิง ข่า ตะไคร้ กะเพรา กระชาย โหระพา ใบมะกรูด พริกไทย ฯลฯ เนื่องจากสมุนไพรที่มีรสเผ็ดร้อนจะมีน้ำมันหอมระเหยที่มีฤทธิ์กระตุ้นระบบไหลเวียนของร่างกาย  ช่วยให้เลือดลมไหลเวียนดี ช่วยคลายกล้ามเนื้อ บรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะ ช่วยย่อย ช่วยขับลม สำหรับเมนูอาหารที่แนะนำ ได้แก่ แกงส้ม ต้มยำ  แกงป่า ยำต่าง ๆ เป็นต้น โดยแนะนำให้รับประทานเป็นอาหารช่วงมื้อเย็น ตั้งแต่เวลา 14.00 – 18.00 น. เพราะจะช่วยส่งเสริมสุขภาพและแก้ปัญหาที่เกิดจากธาตุลมตามองค์ความรู้ด้านการแพทย์แผนไทย
    วิธีที่ 2 การใช้สุคนธ(กลิ่น)บำบัดของสมุนไพร โดยเฉพาะสมุนไพรที่มีรสหอมเย็น เช่น มะลิ พิกุล กระดังงา จำปี จำปา ฯ หากนำดอกมะลิมาลอยน้ำดื่ม หรือนำสมุนไพรดังกล่าวมาวางไว้ที่หัวเตียงเวลานอน หรือการใช้ยาหอมชงดื่มก่อนนอน กลิ่นของสมุนไพรจะช่วยให้ผ่อนคลาย ปรับอารมณ์ให้เป็นปกติ และช่วยให้หลับสบายคลายจากความเครียดได้

     วิธีที่ 3 การบำบัดความเครียด ด้วยการนวดไทย ซึ่งการนวดจะช่วยคลายกล้ามเนื้อบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ ช่วยให้เลือดลมไหลเวียนเวียนได้ดี โดยประชาชนสามารถนวดตนเองได้ ซึ่งจะเน้นบริเวณคอ บ่า ไหล่ ดังนี้ 1.ใช้นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนางของมือข้างขวา กดนวดบริเวณแนวกล้ามเนื้อบ่าข้างซ้ายและนวดขึ้นไปตามแนวกล้ามเนื้อต้นคอข้างซ้ายไปสิ้นสุดที่ฐานกะโหลกศีรษะ โดยนวด 3 – 5 รอบ และทำซ้ำสลับข้างซ้าย - ขวา กรณีนี้จะช่วยคลายกล้ามเนื้อบ่า  ต้นคอ ช่วยให้เลือดไปเลี้ยงศีรษะเพิ่มมากขึ้น 2.นำมือทั้งสองข้างประสานกันไว้ที่ท้ายทอย แล้วใช้นิ้วหัวแม่มือทั้งสองข้างกดนวดตามแนวกล้ามเนื้อต้นคอทั้งสองข้างพร้อมกัน โดยกดนวดตั้งแต่บริเวณฐานคอไปสิ้นสุดที่ฐานกะโหลกศีรษะ นวด 3 – 5 รอบ กรณีนี้จะช่วยบรรเทาอาการตาพร่ามัว 3.ใช้นิ้วมือทั้งสองข้าง คลึงให้ทั่วศีรษะคล้ายการสระผม กรณีนี้จะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดรอบ ๆ ศีรษะช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะ ถ้าหากไม่สะดวกในการนวดตนเองประชาชนสามารถเข้ารับบริการนวดได้ที่คลินิกการแพทย์แผนไทยในโรงพยาบาล ของรัฐ หรือ คลินิกเอกชนได้ทั่วประเทศ จากการศึกษาวิจัยพบว่า ผู้ป่วยกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อพังผืดที่ได้รับการรักษาด้วยการนวดไทย  3 ครั้ง /สัปดาห์ จะสามารถลดระดับความกังวล ความซึมเศร้า และลดระดับความปวดกล้ามเนื้อได้
    นายแพทย์ขวัญชัย กล่าวในตอนท้ายว่า นอกจาก 3 วิธีที่แนะนำแล้ว ประชาชนก็ควรเสพข่าวสารต่าง ๆ อย่างมีสติ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ดื่มน้ำให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 8 แก้ว นอนหลับพักผ่อน 6 – 8 ชั่วโมงต่อวัน และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง หากิจกรรมผ่อนคลายความเครียด เช่น สวดมนต์ นั่งสมาธิ ปลูกต้นไม้ ฟังเพลง ฯ และหากท่านมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการแพทย์แผนไทยหรือการใช้ยาสมุนไพรในการรักษาโรค สามารถติดต่อที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก หมายเลขโทรศัพท์ 0 2149 5678 หรือช่องทางออนไลน์ที่ FACEBOOK กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก www.facebook.com/dtam.moph และ line @DTAM