ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ศ.ดร.ชัย จาตุรพิทักษ์กุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และนายนพดล ปิ่นสุภา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการพัฒนานวัตกรรมวัสดุปิดแผลสำหรับผู้ป่วยแผลเรื้อรังรักษายากที่มีศักยภาพในการนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ โดยมุ่งนำร่องพัฒนาผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตเชิงพาณิชย์ของวัสดุปิดแผลให้มีประสิทธิภาพการรักษาแผลเฉียบพลันและแผลเรื้อรังในผู้ป่วย เพื่อร่วมกันผลักดันให้เกิดนวัตกรรมด้านเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ และเพิ่มโอกาสสำหรับผู้ป่วยให้สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ของคนไทยที่มีคุณภาพเทียบเท่าระดับสากล ในราคาที่เหมาะสม สร้างความสามารถในการแข่งขันและลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ พร้อมทั้งตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมี ศ.นพ.ธวัชชัย อัครวิพุธ รองคณบดีฝ่ายบริหาร ศ.ดร.นพ.ประเสริฐ เอื้อวรากุล รองคณบดีฝ่ายวิจัย รศ.นพ.เฉนียน เรืองเศรษฐกิจ หัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ รศ.ดร.นพ.วิทูร ชินสว่างวัฒนกุล หัวหน้าสถานวิทยามะเร็งศิริราช และ ศ.นพ.พรพรหม เมืองเเมน ภาควิชาศัลยศาสตร์ ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุมสิรินธร อาคารเฉลิมพระเกียรติ ชั้น G โรงพยาบาลศิริราช
การลงงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ "โครงการพัฒนานวัตกรรมวัสดุปิดแผลสำหรับผู้ป่วยแผลเรื้อรังรักษายาก ที่มีศักยภาพในการนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์" คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) เพื่อส่งเสริม สนับสนุน แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการพัฒนาแผ่นปิดแผล เพื่อประโยชน์ในการรักษาบาดแผลของผู้ป่วยในประเทศ เนื่องจากผู้ป่วยจำนวนหนึ่งอาจมีปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ จึงไม่สามารถเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพดีแต่ค่าใช้จ่ายสูงได้ การใช้แผ่นปิดแผลที่มีคุณภาพร่วมกับการรักษาอย่างเหมาะสมจะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ช่วยลดจำนวนวันการนอนรักษาตัว ลดจำนวนครั้งการมาโรงพยาบาล ลดความเจ็บปวด ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วขึ้น
โรงพยาบาลศิริราชเป็นโรงพยาบาลของแผ่นดิน ในแต่ละปี เราให้การรักษาผู้ป่วยที่มีบาดแผลจำนวนมาก เป็นโรงเรียนแพทย์ จึงมีความพร้อมในด้านเครื่องมือ มีบุคลากรทางการแพทย์ และทีมวิจัยที่มีศักยภาพ เราจึงพร้อมและยินดีที่จะสนับสนุนในด้านการศึกษาทางคลินิก โดยทำการทดสอบประสิทธิภาพและผลข้างเคียงในการรักษาบาดแผลในมนุษย์ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญหนึ่งของกระบวนการพัฒนาและวิจัย ให้เห็นผลลัพธ์ของสิ่งที่เราร่วมกันพัฒนา ผมเชื่อว่าการแลกเปลี่ยนองคืความรู้นี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของอุตสาหกรรมแผ่นปิดแผลในประเทศไทย เพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในระดับชาติ และท้ายที่สุด เพื่อผู้ป่วยคนไทยทุกคน