ที่ประชุมคณะกรรมการระบบสุขภาพปฐมภูมิ รับทราบผลการประเมินองค์การบริหารส่วนจังหวัดในการรับถ่ายโอน รพ.สต. ย้ำต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อวางแนวทางให้เกิดการเปลี่ยนผ่านอย่างไร้รอยต่อมากที่สุด ไม่ให้กระทบต่อการบริการและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน พร้อมให้เร่งรัดจัดตั้งกองระบบสุขภาพปฐมภูมิ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการบริหารนโยบาย
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการระบบสุขภาพปฐมภูมิ ครั้งที่ 1/2565 โดยมี นพ.ณรงค์ สายวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วมประชุม และกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับระบบสุขภาพปฐมภูมิ เนื่องจากเป็นระบบบริการสาธารณสุขที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด จึงมีการพัฒนา รพ.สต. คลินิกหมอครอบครัว และการเพิ่มศักยภาพของบุคลากร อสม. อย่างต่อเนื่อง อาทิ นโยบาย 1 ครอบครัวมีหมอประจำตัว 3 คน การร่วมมือกับสถาบันพระบรมราชชนกจัดหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล สำหรับ อสม. 3,000 คน เพื่อช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบสุขภาพปฐมภูมิ ประชาชนเข้าถึงการรักษาอย่างทั่วถึง มีคุณภาพและครอบคลุม
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า การประชุมคณะกรรมการระบบสุขภาพปฐมภูมิในวันนี้ ที่ประชุมรับทราบผลการประเมินองค์การบริหารส่วนจังหวัด 49 แห่ง รพ.สต.จำนวน 3,384 แห่ง ในการถ่ายโอน รพ.สต.ไปยังองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมีบุคลากรประสงค์จะถ่ายโอน 21,997 ราย ประกอบด้วย ข้าราชการ 12,060 ราย และประเภทการจ้างอื่นๆ 9,937 ราย ซึ่งเป็นไปตามนโยบายการกระจายอำนาจ มี พรบ.การกระจายอำนาจฯ ปี 2542 รองรับ เพื่อให้การจัดระบบบริการสาธารณะ การบริหารจัดการด้านสาธารณสุข การส่งเสริมสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่เป็นไปอย่างทั่วถึง และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขจะต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อวางแนวทางและวิธีการดำเนินงานให้เกิดการเปลี่ยนผ่านอย่างไร้รอยต่อให้มากที่สุด โดยจะมีการจัดทำเกณฑ์มาตรฐานเพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อระบบและไม่กระทบต่อประชาชนที่มารับบริการ พร้อมกับทำความเข้าใจกับบุคลากรสาธารณสุขเกี่ยวกับการถ่ายโอนต่อไป เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน และเจ้าหน้าที่
นอกจากนี้ ยังมีมติให้เร่งรัดจัดตั้งกองระบบสุขภาพปฐมภูมิ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบโดยเฉพาะ เพื่อให้มีอัตราบุคลากร งบประมาณ และอำนาจในการบริหารนโยบายอย่างเต็มที่ เกิดการทำงานที่ทำให้ประชาชนทุกช่วงวัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ไม่มีคนดูแลได้มีสุขภาพที่ดี มีการดำรงชีวิตและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยจะเสนอเรื่องให้ ก.พ.ร. พิจารณาต่อไป