ปัญหาการกลายพันธุ์ของเชื้อโรคต่าง ๆ ที่นำมาสู่การเกิดโรคอุบัติใหม่ อย่างเช่นการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส COVID-19 ในปัจจุบัน ทำให้การพัฒนาวัคซีนและชีวภัณฑ์ต่าง ๆ จะรอช้าอีกต่อไปไม่ได้ ทางรอดทั่วไป คือ จะต้องพัฒนาแบบ "วิ่งตามเชื้อโรค" ให้ทัน แต่ที่มหาวิทยาลัยมหิดล เรามุ่งสู่การ "วิ่งนำเชื้อโรค"
ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์นรัตถพล เจริญพันธุ์ ผู้อำนวยการสถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล (MB) มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เผยถึงกลยุทธ์ในการวิจัยวัคซีนและชีวภัณฑ์ของสถาบัน MB ในฐานะส่วนงานที่มีการจดทะเบียนงานวิจัยวัคซีนและชีวภัณฑ์มูลค่าสูงสุดผลงานหนึ่งของมหาวิทยาลัยมหิดล จากกว่า 3 ทศวรรษที่สถาบัน MB ได้ทุ่มเทในการพัฒนาวัคซีนไข้เลือดออก (เดงกี่) และกำลังจะทำให้ความฝันของคนไทยและมวลมนุษยชาติที่จะมีวัคซีนใช้ป้องกันโรคไข้เลือดออกใกล้เป็นจริง หลังผ่านขั้นตอนวิจัยและทดสอบจริงในมนุษย์ในบางส่วนแล้ว
จากจุดนี้ สถาบัน MB ได้ก้าวสู่การจัดสร้างห้องปฏิบัติการชีวนิรภัย ระดับ 3 (BSL3) เพื่อเป็นศูนย์กลางในการสร้างสรรค์งานวิจัยระดับโลก ห้องปฏิบัติการนี้สามารถป้องกันการแพร่กระจายของโรคติดเชื้อร้ายแรง ทำให้นักวิจัยสามารถปฏิบัติงานพัฒนาวัคซีนได้อย่างปลอดภัย ตามนโยบายโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University) ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยมีกำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2566 และมีเป้าหมายผ่านการประเมินเพื่อรับรองมาตรฐานสากลโดยหน่วยงานประเมินชั้นนำจากประเทศสิงคโปร์
ห้องปฏิบัติการชีวนิรภัย ระดับ 3 (BSL3) ที่จัดสร้างขึ้นนี้ได้รับการออกแบบอย่างเป็นสัดส่วน (Isolated Area) ซึ่งมั่นใจได้ถึงความปลอดภัยจากการปนเปื้อนหรือติดเชื้อ นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์นรัตถพล เจริญพันธุ์ ได้ให้มุมมองถึงการพัฒนาวัคซีนและชีวภัณฑ์ว่าจะต้องใช้เวลายาวนานนับทศวรรษ หากนับตั้งแต่จุดสตาร์ท เพื่อให้ทันต่อโรคอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้น ทั้งในปัจจุบันที่มีการกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง และที่อาจเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต จึงจำเป็นต้องใช้กลยุทธ์ต่อยอดเทคโนโลยีเดิม และสร้างสรรค์เทคโนโลยีขั้นสูงขึ้นใหม่เองด้วยไปพร้อม ๆ กัน
ซึ่งวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีเวกเตอร์ไวรัส (Viral Vector) และเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) หรือการใช้สารพันธุกรรมเพื่อกระตุ้นสร้างภูมิคุ้มกันร่างกาย กำลังเป็นที่น่าจับตา โดยวัคซีน mRNA ป้องกัน COVID-19 ที่ฉีดให้แก่คนไทยในปัจจุบันต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ แต่เป็นเทคโนโลยีที่นักวิจัยหลายรายในมหาวิทยาลัยมหิดลกำลังอยู่ระหว่างการวิจัยเพื่อการพัฒนาต่อยอด โดยหวังให้คนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงการเข้ารับการฉีดวัคซีนเพื่อการกระตุ้นป้องกัน COVID-19 อย่างต่อเนื่อง เพื่อจะได้สามารถใช้ชีวิตอย่างปลอดภัย และมั่นใจ ตลอดจนสามารถลดการพึ่งพาการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศได้ต่อไป
อย่างไรก็ดี การลงทุนเพื่อการพัฒนาวัคซีนและชีวภัณฑ์ต่างๆ ให้เกิดความคุ้มค่านั้น ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์นรัตถพล เจริญพันธุ์ มองว่าจะต้องมุ่งไปที่การสร้าง "Product Champion" หรือผลิตภัณฑ์เด่น จากผู้เชี่ยวชาญในทุกด้านที่เกี่ยวข้อง อนึ่ง นอกจากจะต้องมีการเตรียมพร้อมในส่วนของทีมวิจัยแล้ว ยังต้องมีระบบนิเวศ (Ecosystem) และโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ที่พร้อมและเหมาะสม เช่น BLS3 มารองรับด้วย ซึ่งการจะทำให้เกิดความยั่งยืนให้ได้ต่อไปนั้น เราจะต้องช่วยให้ประเทศพึ่งพาตนเองให้ได้มากที่สุด
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร