กรมวิทย์ฯ เตรียมปรับปรุงรายชื่อผลิตภัณฑ์ยาคุณภาพและผู้ผลิตใน GREEN BOOK

นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ในปี พ.ศ. 2565 ก้าวเข้าสู่ปีที่ 20 สำหรับการดูแลคุณภาพยาที่ใช้ในโรงพยาบาล ภายใต้ “โครงการประกันคุณภาพยา” กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เตรียมปรับปรุงรายชื่อผลิตภัณฑ์ยาคุณภาพและผู้ผลิตใน GREEN BOOK ให้เป็นปัจจุบัน และตอบสนองความต้องการของผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย


กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สำนักยาและวัตถุเสพติด และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์                             ได้ดำเนินโครงการประกันคุณภาพยา โดยสุ่มตัวอย่างยาจากโรงพยาบาลของรัฐทั่วประเทศมาตรวจสอบคุณภาพ         ด้วยวิธีมาตรฐานสากล รวมจำนวนตัวอย่างยาที่ตรวจวิเคราะห์ไปแล้วกว่า 20,000 ตัวอย่าง โดยครอบคลุมทั้งยาแผนปัจจุบันที่ผลิตในประเทศ ยานำเข้าจากต่างประเทศ ยาชีวเภสัชภัณฑ์ (Biopharmaceuticals) และยาสมุนไพร            ซึ่งยาที่เข้ามาตรฐานตามเกณฑ์การคัดเลือกจะได้รับการเผยแพร่ใน GREEN BOOK เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการจัดซื้อยาของหน่วยงานภาครัฐ


นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวต่ออีกว่า ในปี พ.ศ. 2564-2565 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้สำรวจความคิดเห็น                ของโรงพยาบาลของรัฐผู้ใช้ข้อมูล GREEN BOOK และผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย เรื่องเกณฑ์ในการคัดเลือกรายชื่อยาและผู้ผลิตออกจาก GREEN BOOK โดยผลสำรวจ คือ ให้คัดเลือกทะเบียนยาที่ยกเลิกแล้ว หรือรายการยาที่อ้างอิงเกณฑ์และวิธีวิเคราะห์คุณภาพตามตำรายาฉบับก่อน ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุตำรายา พ.ศ. 2561                                      ดังนั้นในปี พ.ศ. 2565 จึงได้ปรับปรุงข้อมูลรายชื่อผลิตภัณฑ์ยาคุณภาพและผู้ผลิตใน GREEN BOOK  ตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว เพื่อให้ข้อมูลมีความทันสมัยและสอดคล้องกับมาตรฐานสากลในปัจจุบัน ตอบสนองต่อความต้องการ                     ของผู้รับบริการและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย สร้างความมั่นใจให้แก่โรงพยาบาลที่ใช้ข้อมูลอ้างอิง


“นอกจากนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 เป็นต้นมา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ยกเลิกการพิมพ์หนังสือ              GREEN BOOK แต่จะจัดทำในรูปแบบดิจิตอลทั้งหมด เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์เทคโนโลยีสารสนเทศสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข สามารถสืบค้นได้สะดวก และเข้าถึงง่าย โดยบุคลากรทางการแพทย์และผู้สนใจ                   สามารถสืบค้นข้อมูลได้จากแอปพลิเคชัน “GREEN BOOK DMSC” หรืออีกช่องทางที่เว็บไซต์สำนักยาและวัตถุเสพติด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ http://bdn.go.th/th/ebook ได้เช่นเดียวกัน” นายแพทย์ศุภกิจ กล่าว