นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือเพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างสถานีร่วมศิริราชและอาคารรักษาพยาบาล ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2565 ณ ห้องประชุม ชั้น 3 อาคารสโมสรและหอประชุม กระทรวงคมนาคม โดยมี นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางสุขสมรวย วันทนียกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม (หัวหน้ากลุ่มภารกิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง) นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการขนส่งทางราง นายเอก สิทธิเวคิน รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย และนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยผู้บริหารจากหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องและสื่อมวลชน เข้าร่วมพิธี
นายศักดิ์สยามฯ กล่าวว่า จากนโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบให้กระทรวงคมนาคมแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดและปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้มุ่งมั่น เร่งรัด ผลักดัน การแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม และมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้ประชาชนเดินทางได้สะดวก ปลอดภัย ตรงเวลา และหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แทนการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล โดยในการพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทั้งโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช และโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) จะมีการก่อสร้างสถานีร่วมศิริราชและอาคารรักษาพยาบาล ซึ่งจะเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางด้วยระบบรางที่สำคัญ เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนทั่วไป ผู้เข้ารับบริการรักษา และบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลศิริราช รวมถึงเป็นการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่ภายในและโดยรอบโรงพยาบาลศิริราชอย่างยั่งยืน
สำหรับการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือเพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างสถานีร่วมศิริราชและอาคารรักษาพยาบาล ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยและคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เพื่อผลักดันให้เกิดการบูรณาการการใช้พื้นที่บริเวณสถานีร่วมศิริราชของโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช และโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนที่เดินทางในระบบขนส่งสาธารณะและผู้มาใช้บริการของโรงพยาบาลศิริราชมากยิ่งขึ้น โดยมีความตกลงในเรื่องรูปแบบ ขอบเขตความรับผิดชอบ ค่าใช้จ่ายและแผนการดำเนินงาน ภายใต้กฎหมาย กฎระเบียบ และคำสั่งอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยจะมีการจัดตั้งคณะทำงาน ประกอบด้วย 3 หน่วยงาน รวมถึงกระทรวงคมนาคม และกรมการขนส่งทางราง เพื่อร่วมผลักดันให้การดำเนินงานเป็นไปตามเป้าประสงค์ต่อไป
สำหรับอาคารรักษาพยาบาลของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เป็นการก่อสร้างอาคารสูง15 ชั้น ชั้นใต้ดิน 3 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 55,057 ตารางเมตร แบ่งเป็นพื้นที่โรงพยาบาล 50,741 ตารางเมตร พื้นที่รถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน 3,410 ตารางเมตร และพื้นที่รถไฟฟ้าสายสีส้ม 906 ตารางเมตร คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2566 พร้อมเปิดให้บริการในปี 2570 เมื่อแล้วเสร็จจะสามารถให้บริการผู้ป่วย ทั้งผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน การบริการ Ambulatory Unit/ One Day Surgical โดยผู้ป่วยสามารถเดินทางมารับบริการแล้วกลับบ้านได้ ไม่จำเป็นต้องพักค้าง รวมถึงบริการตรวจทางห้องปฏิบัติการและการตรวจพิเศษ ส่งผลให้ประชาชนได้รับประโยชน์และความสะดวกสบายจากการเดินทางในระบบขนส่งสาธารณะและการบริการสาธารณสุขมากยิ่งขึ้นด้วย
ส่วนโครงการก่อสร้างระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2562 เห็นชอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทยดำเนินโครงการ ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมปรับปรุงเอกสารประกวดราคาและราคากลาง และคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2565 พร้อมเปิดให้บริการในปี 2570 ในส่วนของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย อยู่ระหว่างการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน โดยดำเนินการตามแนวทางการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม และคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2566 พร้อมเปิดให้บริการในปี 2571
นายศักดิ์สยามฯ กล่าวตอนท้ายว่า การลงนามบันทึกความเข้าใจฯ ในครั้งนี้ จะแสดงให้เห็นถึงเจตนารมย์ของการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมและคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ที่ร่วมกันสนับสนุนและประสานความร่วมมือ เพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างสถานีร่วมศิริราชและอาคารรักษาพยาบาล ให้ประสบความสำเร็จ เป็น “สถานีขนส่งมวลชนเพื่อสุขภาพและสาธารณสุขแห่งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย” ซึ่งจะเป็น Model ต้นแบบของการพัฒนาพื้นที่สถานีขนส่งมวลชนสำหรับโครงการอื่นๆ ต่อไป