สธ. เร่งขับเคลื่อนยาจากสมุนไพร เข้าสู่ “บัญชียาหลักแห่งชาติ”

กระทรวงสาธารณสุขเปิดงาน “บัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร” ภายใต้แนวคิด “เข้าถึงถ้วนหน้า    ต่อยอดภูมิปัญญา พึ่งพาตนเอง” เพื่อผลักดันการเข้าถึงและการใช้ยาจากสมุนไพร ในระบบบริการสาธารณสุขอย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งยังเป็นการต่อยอดภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ส่งเสริมให้เกิดการพึ่งตนเองตามหลักปรัชญาวิถีชีวิตพอเพียง ส่งผลต่อการสร้างรายได้ให้เกษตรกร เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในประเทศ


นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข รศ.ดร.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร พร้อมด้วย นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมเปิดงาน “บัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร” ภายใต้แนวคิด “เข้าถึงถ้วนหน้า ต่อยอด ภูมิปัญญา พึ่งพาตนเอง”


นายอนุทิน ชาญวีรกูล ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุขมุ่งเน้นให้คนไทยเข้าถึงยาจำเป็นด้านสาธารณสุข ไม่เพียงแต่ยาแผนปัจจุบันเท่านั้น ยังผลักดันให้มีการใช้ยาสมุนไพรตามภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยในระบบบริการสาธารณสุข เพื่อความมั่นคงทางยาและสนับสนุนการพึ่งพาตนเอง โดยกำหนดให้มีรายการยาในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพรครอบคลุมยาจำเป็นที่ต้องใช้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพของประชาชน ซึ่งปัจจุบันมีรายการยาจากสมุนไพรอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ จำนวน 94 รายการ รวมไปถึงยาจากกัญชา 8 รายการ ประกอบด้วย ตำรับยาแผนไทย 3 รายการ คือ ยาแก้ลม
แก้เส้น ยาศุขไสยาศน์ และยาทำลายพระสุเมรุ และ ยาน้ำมันกัญชา 5 รายการ เช่น ยาน้ำมันกัญชาที่มี
CBD : THC (1:1) ในผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายที่มีอาการนอนไม่หลับ เบื่ออาหาร หรือมีอาการปวด และยาน้ำมันกัญชาที่มี CBD : THC (20:1) ในผู้ป่วยลมชักรักษายาก เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วยที่เข้าถึงยาได้ นอกจากนั้น ยังมียาฟ้าทะลายโจร สำหรับผู้ป่วยในช่วงสถานการณ์โควิด ส่งผลให้ประชาชนที่มีสิทธิ์ตามระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สามารถเข้าถึงยาที่มีคุณภาพได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย


ทั้งนี้ การขับเคลื่อนให้ระบบบริการสุขภาพหันมาใช้ประโยชน์จากยาสมุนไพรนั้น นอกจากช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงยาทั้งในภาวะปกติและภาวะฉุกเฉินแล้ว ยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ป่วย ประชาชน และชุมชน ในการใช้ยาจากสมุนไพรดูแลสุขภาพ อันเป็นการพึ่งตนเองตามหลักปรัชญาวิถีชีวิตพอเพียงโดยใช้ภูมิปัญญาไทย และเป็นการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกสมุนไพร ตั้งแต่การพัฒนาสายพันธุ์ การเพาะปลูก และการเก็บเกี่ยวพืชสมุนไพรของชุมชน เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตยาจากสมุนไพรไทย สร้างการหมุนเวียนเศรษฐกิจภายในประเทศอีกด้วย