บอร์ดควบคุมคุณภาพฯ สปสช. ติดตามแก้ปัญหา “ผู้ป่วยถูกเรียกเก็บเงินค่าถุงทวารเทียม”

บอร์ดควบคุมคุณภาพมาตรฐานบริการสาธารณสุข สปสช. มอบคณะอนุกรรมการควบคุมคุณภาพฯ (อคม.) ระดับพื้นที่ร่วมติดตามและแก้ปัญหากรณีผู้ป่วยถูกจำกัด/ เรียกเก็บเงินค่าถุงทวารเทียม หวั่นกระทบสุขอนามัยผู้ป่วย เกิดแผลติดเชื้อ เพื่อให้การบริการเป็นไปตามประกาศหลักเกณฑ์ฯ ดูแลผู้ป่วย


นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา ประธานกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ตามที่มูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง ได้ทำหนังสือแจ้งมายัง สปสช. เพื่อขอให้แก้ไขปัญหากรณีการเบิกจ่ายอุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่าย “ถุงทวารเทียม” และอุปกรณ์เสริม (Colostomy Appliances And Accessories) ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง ซึ่งก่อนหน้านี้ สปสช. ได้ประกาศเป็นสิทธิประโยชน์ให้เข้าถึงบริการตามความจำเป็นที่มีคุณภาพ ปลอดภัย อย่างเท่าเทียม และปกป้องวิกฤติทางการเงินจากค่ารักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย ที่ผ่านมาจึงได้นำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมคุณภพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขเพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหา


ทั้งนี้ ปัญหาในการเบิกจ่ายถุงทวารเทียมของผู้ป่วย พบว่ามีหน่วยบริการหลายแห่งได้จำกัดจำนวนการจ่ายถุงทวารเทียม โดยเฉลี่ยให้เพียง 5 ชุดต่อเดือนเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอต่อการใช้งานของผู้ป่วยที่เฉลี่ย 10 ชุดต่อเดือน ส่งผลให้ผู้ป่วยต้องซื้อเพิ่มเติม บางแห่งอุปกรณ์ที่เบิกจ่ายไม่เหมาะสมกับสภาพของผู้ป่วย จนทำให้เกิดการรั่วซึม ส่งกลิ่นเหม็น และแผลอักเสบติดเชื้อ และยังพบกรณีการเรียกเก็บค่าอุปกรณ์โดยไม่มีสิทธิเรียกเก็บ (Extra billing) โดยที่หน่วยบริการกำหนดขึ้นเอง ทั้งที่เป็นอุปกรณ์จำเป็นต่อผู้ป่วยและไม่ได้อยู่ในรายการยกเว้น นอกจากนี้ยังมีหน่วยบริการบางแห่งได้ให้ผู้ป่วยซื้อถุงทวารเทียมและชุดอุปกรณ์เองทั้งหมด ซึ่งปัญหานี้ เกิดขึ้นทั้งกรณีถุงทวารเทียมสำหรับผู้ใหญ่และเด็ก


นพ.สุพรรณ กล่าวว่า ในการดำเนินการของ สปสช. ที่ผ่านมาได้ส่งหนังสือซักซ้อมความเข้าไปยังหน่วยบริการทุกแห่งแล้ว และจะดำเนินการจัดประชุมชี้แจงอีกครั้งหากยังคงพบปัญหา ขณะที่ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. ได้ให้ดำเนินการโดยมอบ สปสช.เขต ทำความเข้าใจหน่วยบริการ โดยเฉพาะหน่วยบริการที่เกิดปัญหาขึ้น และให้สายด่วน สปสช. 1330 ตรวจสอบและการคุ้มครองสิทธิกรณีผู้ป่วยที่มีข้อมูลหลักฐานการเรียกเก็บเงินค่าถุงทวารเทียมจากหน่วยบริการ พร้อมกับให้ตรวจสอบราคาอุปกรณ์ในตลาดเพื่อพิจารณาปรับราคาเบิกจ่ายให้เหมาะสม รวมทั้งให้นโยบายเพิ่มการบริการกระจายอุปกรณ์ไปในทุกช่องทางที่ประชาชนเข้าถึงโดยสะดวก นอกจากนี้ในส่วนของคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข ได้มีมติมอบให้คณะอนุกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขระดับเขตพื้นที่ (อคม.) ดำเนินการติดตามข้อเท็จจริง และติดตามกำกับการให้บริการของหน่วยบริการในพื้นที่


“อคม. เป็นกลไกกำกับและควบคุมคุณภาพการให้บริการในพื้นที่ เพื่อคุ้มครองประชาชนให้เข้าถึงบริการภายใต้สิทธิประโยขน์บัตรทอง อย่างปัญหาการเข้าถึงถุงทวารเทียมและชุดอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อผู้ป่วยนี้ เป็นกรณีตัวอย่าง เพราะหากผู้ป่วยได้รับจำนวนถุงทวารเทียมไม่เพียงพอ ก็จะส่งผลกระทบต่อผู้ป่วย โดยเฉพาะในด้านสุขอนามัย และอาจทำให้เกิดแผลติดเชื้อตามมาได้ ซึ่งทาง อคม. แต่ละพื้นที่จะร่วมกันกำกับและติดตามเพื่อให้เป็นไปตามประกาศหลักเกณฑ์บริการต่อไป” นพ.สุพรรณ กล่าว