ม.มหิดล เปิดนวัตกรรม “ระบบส่งยารักษามะเร็งสมองจากเจลชีวพอลิเมอร์” ครั้งแรกในอาเซียน

          ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ภัทรชัย กีรติสิน รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยมหิดล ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการแถลงข่าว เปิดนวัตกรรม “ระบบส่งยารักษามะเร็งสมองจากเจลชีวพอลิเมอร์” ครั้งแรกในอาเซียน ซึ่งนวัตกรรมดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่าง คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และ รองศาสตราจารย์ ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล รวมถึงแขกผู้มีเกียรติเข้าร่วมงาน ณ Innogineer Studio คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และทาง Facebook live

          โดยในช่วง Talk Session “เปิดนวัตกรรม … ครั้งแรกในอาเซียน ระบบส่งยารักษามะเร็งสมอง จากเจลชีวพอลิเมอร์” ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี รองศาสตราจารย์ ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร.นรเศรษฐ ณ สงขลา หัวหน้าโครงการและหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุรเดช หงส์อิง ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อัตถพร บุญเกิด แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมประสาท คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ร่วมพูดคุยถึงนวัตกรรมนี้ โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ธนภัทร์ วานิชานนท์ รองคณบดีฝ่ายจัดการทุนมนุษย์และองค์กรสัมพันธ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ดำเนินรายการ
           โรคมะเร็งสมอง (Brain cancer) เป็นหนึ่งในโรคที่มีอัตราการเสียชีวิตสูง รอดน้อยกว่า 10% และรักษาให้หายขาดได้ยาก ทีมวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกันคิดค้นเป็นครั้งแรกในอาเซียน นวัตกรรม “ระบบส่งยาฉีดรักษามะเร็งสมองจากเจลชีวพอลิเมอร์ (Injectable Polymeric Drug Delivery System for Human Brain Cancer Treatment) พลิกโฉมหน้าใหม่ของการรักษามะเร็งสมอง โดยการส่งยาเข้าถึงเป้าหมายมะเร็งสมองได้ตรงจุด และยับยั้งเซลล์มะเร็งสมองได้โดยไม่มีพิษต่อร่างกาย ในการทดลองกับผู้ป่วยเฟสที่ 1 และกำลังเดินหน้าในเฟสที่ 2 นวัตกรรมนี้ได้รับการจดสิทธิบัตร และได้รับการตีพิมพ์ในวารสารต่างประเทศ และเป็นความหวังของคนไทยที่จะได้เห็นผลงานวิจัยนี้ผลิตใช้จริงในการต่อสู้กับมะเร็งเพื่อช่วยชีวิตคนไทยและเพื่อนมนุษย์ทั่วโลก