คลินิกนวัตกรรมการแพทย์ผสมผสานด้านโรคมะเร็งและหอผู้ป่วยวิจัยด้านโรคมะเร็งแบบบูรณาการ จัดตั้งและเริ่มดำเนินการศึกษาวิจัย เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563 ณ อาคารวิเคราะห์บำบัดโรคมะเร็ง ชั้น 4 สถาบันมะเร็งแห่งชาติ โดยแยกสถานที่ออกจากหน่วยงานบริการอื่น ๆ ซึ่งสามารถรองรับการวิจัยในรูปแบบผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก และสามารถรองรับการดำเนินงานวิจัยทางคลินิกด้านโรคมะเร็งในมนุษย์โดยเฉพาะ รวมทั้งสามารถสนับสนุนงานวิจัยทางคลินิกอย่างเป็นทางการได้อีกด้วย
นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กรมการแพทย์ โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ได้ดำเนินงานการจัดตั้งคณะกรรมการศูนย์วิจัยทางคลินิก (Clinical Research Center : CRC) พัฒนาศักยภาพบุคลากรและการพัฒนาด้านอื่นๆ ซึ่งผลการดำเนินงานตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา มีผลงานวิจัย
ที่ดำเนินงานแล้วเสร็จ 2 เรื่อง ได้แก่ 1)ความปลอดภัยและประสิทธิผลของการใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์เกรดยาตัวแรกของประเทศไทยในผู้ป่วยมะเร็งระยะท้าย และ 2)การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่จำเพาะต่อไวรัส SAR-CoV-2 หลังการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในผู้ป่วยมะเร็ง และอยู่ระหว่างการดำเนินงานวิจัยเรื่อง การพัฒนารูปแบบการคัดกรองพันธุกรรมเพื่อการวินิจฉัยและการรักษาโรคมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่แบบมุ่งเป้า (Precision Medicine) ในโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์
นายแพทย์สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันการดำเนินงานของคลินิกนวัตกรรมการแพทย์ผสมผสานด้านโรคมะเร็งฯ ได้ให้บริการดูแลรักษาทางการแพทย์ผสมผสาน ด้านโรคมะเร็งด้วยบริการคลินิกกัญชาทางการแพทย์แบบบูรณาการทั้งแผนปัจจุบันและแผนไทย และกำลังศึกษาวิจัยเรื่อง การศึกษาในระยะที่ 1 แบบสุ่มปกปิดข้อมูลการรักษาสองด้านควบคุมด้วยยาหลอกเพื่อประเมินความปลอดภัยของสารละลายพ่นจมูกที่มีไฮโปรเมลเลสเป็นองค์ประกอบหลักและแอนติบอดี้คอกเทลต้าน SAR-CoV-2
ที่เป็นอิมมูโนก๊อบบูลินจี-1 ของมนุษย์ในอาสาสมัครสุขภาพดี โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง 3 สถาบัน คือ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และองค์การเภสัชกรรม
การดำเนินงานของคลินิกนวัตกรรมการแพทย์ผสมผสานด้านโรคมะเร็งและหอผู้ป่วยวิจัยด้านโรคมะเร็งแบบบูรณาการการวิจัยทางคลินิก ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากสถาบันทางการแพทย์หลายสถาบัน ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และองค์การเภสัชกรรม เพื่อให้เกิดงานวิจัยทางคลินิกด้านโรคมะเร็งที่มีประสิทธิภาพและพัฒนาการดูแลรักษาโรคมะเร็งให้ก้าวหน้าต่อไป และในวันที่ 26 พฤษภาคม 2565 นี้ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ ได้เปิดคลินิกนวัตกรรมการแพทย์ผสมผสานด้านโรคมะเร็งและหอผู้ป่วยวิจัยด้านโรคมะเร็งแบบบูรณาการอย่างเป็นทางการ โดยมีผู้แทนจากคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และองค์การเภสัชกรรม ร่วมเปิดงาน