สปสช. ระดมสมองจัดทำร่างกรอบ “แผนปฏิบัติราชการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 5” รุกขับเคลื่อน “กองทุนบัตรทอง ปี 2566-2570” ต่อเนื่อง หลังผ่านพ้นดำเนินการ 4 ระยะ สร้างความครอบคลุมและทั่วถึงด้านสุขภาพให้คนไทยทุกคน
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดการประชุมระดมสมองภายใน สปสช. เพื่อจัดทำร่างกรอบ “แผนปฏิบัติราชการของ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 5 ระยะ 5 ปี พ.ศ. 2566 – 2570” มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อจัดข้อเสนอในการขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และนำเสนอต่อคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) พิจารณาต่อไป โดยมีวิทยากรจาก Head of Thailand Policy Lab, สถาบันอนาคตไทย และสำนักงานสถาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมกระบวนการจัดทำแผนฯ ในครั้งนี้
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในการดำเนินการระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติการจะบรรลุเป้าหมายและเป็นไปตามเจตนารมณ์ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ได้นั้น จำเป็นต้องมีการกำหนดทิศทางและแผนการในการขับเคลื่อน ซึ่งในระยะ 20 ปี ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน (ปี 2546-2565) สปสช. มีแผนที่เป็นกรอบดำเนินการแล้วทั้งสิ้น 4 ระยะ ประกอบด้วย
ระยะที่ 1 ปี 2546-2550 เส้นทางเดิน (roadmap) สู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เน้นการสร้างความครอบคลุมด้านหลักประกันสุขภาพให้กับคนไทย ผ่านกลไกการมีส่วนร่วม พร้อมหนุนเสริมการจัดระบบบริการที่ประชาชนเข้าถึงได้สะดวกและทั่วถึง
ระยะที่ 2 ปี 2551 – 2554 เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงบประมาณ โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน รวมถึงการคุ้มครองสิทธิ และการพัฒนาระบบการบริหารจัดการภายใน สปสช. ให้เข้มแข็งมากขึ้น
ระยะที่ 3 ปี 2555 – 2559 เน้นความยั่งยืนระบบหลักประกันสุขภาพ ครอบคลุมทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของ สอดคล้องกลมกลืนกันในระบบประกันสุขภาพภาครัฐ สนับสนุนระบบบริการปฐมภูมิ
ระยะที่ 4 ปี 2560-2564 ปรับเปลี่ยนเป็น “แผนปฏิบัติราชการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระยะ 5 ปี 2561-2565 มุ่งเป้าประสงค์ 3 มิติ คือ ประชาชนเข้าถึงบริการ การเงินการคลังมั่นคง ดำรงธรรมาภิบาล สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2561-2580 และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ การปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 แผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 12 แผนแม่บทบูรณาการพัฒนาระบบประกันสุขภาพ และแผนยุทธศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
นพ.จเด็จ กล่าวว่า จากที่ สปสช.ได้ดำเนินการตามแผนทั้ง 4 ระยะข้างต้นนี้ ทำให้ให้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติประสบผลสำเร็จ ไม่เพียงแต่สร้างความครอบคลุมและทั่วถึงด้านสุขภาพให้กับคนไทยทุกคน แต่ยังทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีความเข้มแข็งสู่ความยั่งยืนได้ และในวันนี้จะเป็นอีกครั้งหนึ่งของการระดมสมองเพื่อจัดทำแผนขับเคลื่อนในระยะที่ 5 ต่อจากนี้ ตั้งแต่ปี 2566-2570 จากนี้ โดยเป็นการจัดทำร่างกรอบแผนปฏิบัติราชการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติฉบับที่ 5 สำหรับกระบวนการดำเนินการ เบื้องต้นได้แบ่งกลุ่มประเด็นยุทธศาสตร์ของระดมสมอง 5 ด้าน ดังนี้ 1.ประชาชน การใช้สิทธิ การเข้าถึงบริการ 2.หน่วยบริการและคุณภาพบริการ 3.การมีส่วนร่วม 4.การเงินการคลังและความยั่งยืน และ 5 การอภิบาลระบบ สำนักงานและการบริหารจัดการภายใน ซึ่งจะนำไปสู่การกลั่นกรองสู่แผนปฏิบัติราชการของ สปสช. ต่อไป
“เวทีนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ สปสช.ได้มีการประชุมระดมสมองเพื่อขับเคลื่อนระบบอย่างต่อเนื่อง และในวันนี้จะเป็นอีกครั้งหนึ่งของการร่วมกันวิเคราะห์ปัจจัยแนวโน้มและสภาพแวดล้อมที่ส่งผลต่อการขับเคลื่อนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ร่วมกันมองภาพในอนาคตเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติราชการฯ ในระยะ 5 ปี อย่างไรก็ตามยอมรับว่าครั้งนี้เป็นการจัดทำแผนที่ยากมาก เนื่องจากที่ผ่านมาโลกได้เกิดการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์สุขภาพครั้งใหญ่ อีกทั้งหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ายังอยู่ในการขับเคลื่อนระดับโลก ดังนั้นการขับเคลื่อนคงต้องดูทั้งปัจจัยภายในและภายนอก ภาระทางการคลัง ซึ่งผลของการระดมสมองวันนี้จะมีการกลั่นกรองและจัดทำเป็นแผนปฏิบัติราชการของ สปสช. เสนอต่อบอร์ด สปสช. พิจารณาต่อไป” เลขาธิการ สปสช. กล่าว