กระทรวงสาธารณสุข สปสช.และเครือข่ายคลินิกโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่าย ร่วมประชุมและกำหนดแนวทางเพื่อก้าวต่อไปของการดูแลผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจกับสถานการณ์ที่ท้าทายด้านการสาธารณสุขระดับโลก และทิศทางการพัฒนาระบบบริการสุขภาพโรคระบบทางเดินหายใจในยุค Next Normal ในการประชุมประจำปีครั้งที่ 17 ของเครือข่ายคลินิกโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นฯ
นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า “ก้าวต่อไปของการดูแลผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจกับสถานการณ์ที่ท้าทายด้านการสาธารณสุขระดับโลก ทั้งจากวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของโรค COVID-19 ภาวะ Long COVID (ลองโควิด) และสถานการณ์ของฝุ่น PM 2.5 ที่เพิ่มสูงขึ้น กระทรวงสาธารณสุขเล็งเห็นว่า เราต้องให้ความสำคัญในการพัฒนาระบบบริการด้านการรักษาโรค ระบบทางเดินหายใจ รวมถึงโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรัง เพราะได้รับผลกระทบโดยตรงจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น เราจึงมีนโยบายในการส่งเสริมระบบบริการสุขภาพด้านโรคระบบทางเดินหายใจ โรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรัง ให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น และพัฒนาศักยภาพสถานพยาบาลของรัฐให้เข้าถึงได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว ครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในกรณีที่ไม่สะดวกในการเดินทางมาที่โรงพยาบาล โดยสิ่งที่เรามุ่งเน้นเป็นสำคัญคือ คุณภาพ สะดวก รวดเร็ว และทั่วถึง”
นพ.ยงยุทธ พงษ์สุภาพ ผู้ทรงคุณวุฒิ กลุ่มภารกิจสนับสนุนการเข้าถึงบริการปฐมภูมิฯ สปสช. กล่าวว่า “สปสช. ซึ่งมีหน้าที่หลักในการจัดทำระบบประกันสุขภาพเพื่อให้คนไทยทุกคนเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพ พร้อมสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยบริการสุขภาพทุกเขตและยกระดับการบริการสาธารณสุขให้มีคุณภาพรองรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพที่ดีและมีประสิทธิภาพอย่างเท่าเทียม ซึ่งจะเป็นประโยชน์แบบองค์รวมต่อผู้ป่วยและสังคม สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ด้านการจัดบริการสุขภาพแบบ New Normal ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของ สปสช.”
รศ.นพ.วัชรา บุญสวัสดิ์ ประธานเครือข่ายคลินิกโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่าย (Easy Asthma and COPD Clinic Network: EACC) กล่าวว่า จากความสำเร็จของ EACC ที่ผ่านมาที่มีแนวทางการรักษาที่ง่ายและได้มาตรฐาน เน้นการให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมอาการได้เป็นอย่างดี รวมถึงการขยายเครือข่ายออกไปให้ครอบคลุมและเข้าถึงทุกพื้นที่ แต่เมื่อสภาพสังคมจำเป็นต้องก้าวเข้าสู่วิถีชีวิตแบบ New Normal การก้าวเดินครั้งต่อไปของ EACC จึงนับเป็นก้าวเดินที่ท้าทาย และนำไปสู่เส้นทาง EACC The Next Normal โดย EACC จะมุ่งเน้นให้ผู้ป่วยสามารถรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยเข้าถึงการรักษาบนมาตรฐาน EACC แม้ว่าอยู่ที่บ้าน ซึ่งผู้ป่วยจะได้รับการรักษาที่ไม่แตกต่าง เพราะ Quality of Care เป็นสิ่งสำคัญ โดยผู้ป่วยโรคหืดต้องสามารถควบคุมอาการของโรคได้ แม้ในสภาวการณ์ที่เปลี่ยนไป ทั้งเรื่องสภาพแวดล้อม และสภาพสังคมวิถีใหม่
“เพื่อป้องกันการกำเริบของโรค เรามุ่งเน้นให้ผู้ป่วยรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ต้องพ่นยาอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมโรคได้ รวมทั้งลดภาระภาครัฐเรื่องค่าใช้จ่ายการรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลได้ นอกจากนี้ เรายังได้นำเครื่องมือใหม่ ๆ และเทคโนโลยีเข้ามาเสริมทัพการทำงานของทีม เช่น EACC pocket guide และโครงการ Telehealth Together ซึ่งได้ร่วมมือกับ ทรู เฮลท์ นำเทคโนโลยีดิจิทัลช่วยอำนวยความสะดวกให้แพทย์และผู้ป่วยสามารถพบกันได้ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยผู้ป่วยโรคหืดสามารถพบแพทย์เพื่อติดตามอาการได้อย่างต่อเนื่องและควบคุมโรคได้โดยไม่ต้องไปโรงพยาบาล เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการส่งเสริมให้ผู้ป่วยกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” รศ.นพ.วัชรา กล่าว