สถาบันมะเร็งแห่งชาติ แจ้งเตือนข่าวปลอม “การใช้โรลออนเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งเต้านม”

กรมการแพทย์ สถาบันมะเร็ง

ตามที่มีข่าวปรากฏในสื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับประเด็นเรื่อง “การใช้โรลออนเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งเต้านม” กรมการแพทย์ โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง

          ตามที่มีข่าวปรากฏในสื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับประเด็นเรื่อง “การใช้โรลออนเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งเต้านม” กรมการแพทย์ โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่า ยังไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัดว่าการใช้โรลออนระงับกลิ่นกาย (Deodorant) และระงับเหงื่อ (Antiperspirant) ส่งผลให้เกิดมะเร็งเต้านม
          นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ตามที่มีการเผยแพร่การใช้โรลออนเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งเต้านม นั้น ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายใช้ลดการเกิดกลิ่นตัวซึ่งมีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียมีส่วนประกอบ เช่น สารลดเหงื่อ กรดเบนโซอิค สารฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และน้ำหอม เป็นต้น ส่วนผลิตภัณฑ์ระงับเหงื่อเป็นสารที่ใช้ลดการหลั่งเหงื่อทำให้ผิวหนังและรูขุมขนบริเวณที่ทาอุดตัน สารนี้มักจะมีส่วนประกอบของโลหะ เช่น อลูมิเนียมคลอไฮเดรท ซึ่งมีความกังวลว่าสารนี้อาจตกค้างที่ผิวหนังบริเวณใต้วงแขนส่งผลต่อการเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งเต้านม อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยที่ยืนยันแน่ชัดว่าการใช้สารระงับเหงื่อ/สารระงับกลิ่นกายมีความเชื่อมโยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม
          นายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเสริมว่า การใช้สารระงับการหลั่งเหงื่อเป็นการใช้ในช่วงเวลาสั้นๆ และใช้เฉพาะจุดซึ่งเหงื่อยังคงถูกขับออกบริเวณอื่นของร่างกายได้จึงไม่ก่อให้เกิดอันตราย ควรดูสารเคมีที่เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์โรลออน เช่น น้ำหอม สารกันบูด เพื่อสังเกตอาการแพ้หรืออาการระคายเคืองต่าง ๆ บริเวณผิวหนัง นอกจากนี้ในผู้ที่มีกลิ่นตัวมากควรรักษาสุขอนามัยให้สะอาดและอาบน้ำด้วยสบู่ฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุกลิ่นตัวเป็นประจำ