นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงการดำเนินงานโครงการพัฒนาเครือข่ายวิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน ว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2549 และดำเนินการอย่างต่อเนื่องภายใต้แผนยุทธศาสตร์กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระยะ 20 ปี ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค สนับสนุนและเสริมสร้าง การคุ้มครองผู้บริโภคให้มีความยั่งยืน การนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ไปสู่การสร้างสุขภาวะของชุมชน หรือ “Community Medical Sciences for health : Com Med Sci for health” ซึ่งมีกิจกรรมหลัก 2 ด้าน (2 D) คือ การแจ้งเตือนภัยสุขภาพ (Detection) และการพัฒนาคุณภาพและกระบวนการผลิต (Development)
ในปีงบประมาณ 2565มีการพัฒนาเครือข่ายวิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน ในเรื่องการแจ้งเตือนภัยสุขภาพ (Detection) มีการพัฒนาศูนย์แจ้งเตือนภัยสุขภาพผ่านเกณฑ์คุณภาพ จำนวน 323 แห่ง และพัฒนา อสม. ให้มีความรู้ ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ จนเป็น อสม.วิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน สำหรับเฝ้าระวังแจ้งเตือนผลิตภัณฑ์สุขภาพอันตราย ในชุมชน การใช้ชุดทดสอบด้านยา อาหาร และเครื่องสำอาง ชุดทดสอบกัญชา ชุดตรวจ ATK การใช้งานฐานข้อมูล กรมวิทย์ With you การรายงานผลในแอพพลิเคชั่น H4U และ Smart อสม. การคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ฯลฯ โดยมี อสม.ผ่านการประเมินเป็น อสม.วิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน 4,427 คน สามารถนำความรู้ไปใช้ในการคัดกรองผลิตภัณฑ์สุขภาพ สื่อสารแจ้งเตือนข่าวร้ายกระจายข่าวดี เกิดการบริหารจัดการงานคุ้มครองผู้บริโภคของชุมชน
สำหรับการพัฒนาคุณภาพและกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ชุมชน (Development) ได้พัฒนากระบวนการผลิตหรือคุณภาพผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการ OTOP/SMEs ให้มีคุณภาพมาตรฐานและมีความปลอดภัย รวมทั้งพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการให้พร้อมสู่กระบวนการขอรับรองมาตรฐาน โดยแบ่งผลิตภัณฑ์ออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม และกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสมุนไพร ทั้งนี้ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2564 ถึง 31 พฤษภาคม 2565 สามารถยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ชุมชนด้านอาหารและเครื่องสำอางสมุนไพรสู่ Smart product จำนวน 14 ผลิตภัณฑ์ และพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้ปลอดภัย จำนวน 60 ผลิตภัณฑ์
นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยังคงพัฒนาเครือข่ายวิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน อย่างต่อเนื่อง ทั้งการแจ้งเตือนภัยสุขภาพ และการพัฒนาคุณภาพและกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อสนับสนุน การทำงานในการป้องกันโรคและการคุ้มครองผู้บริโภคของชุมชนให้มีความเข้มแข็ง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนให้ผู้ประกอบการ OTOP/SMEs ไทย ทั้งนี้ อสม. หรือผู้ประกอบการ OTOP/SMEs ที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ในพื้นที่ภูมิภาคต่างๆ