นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า จากที่มีการเผยแพร่ข้อสงสัยการตรวจ ATK ให้ผู้ป่วยในโรงพยาบาลก่อนการให้การระงับความรู้สึกทางวิสัญญี (การดมยาสลบ) นั้น กรมการแพทย์ขอยืนยันตามประกาศแนวทางปฏิบัติสำหรับสถานพยาบาลเรื่องการตรวจคัดกรองโรคโควิด 19 ในผู้ป่วยทั่วไป และบุคลากรทางการแพทย์ในช่วงระยะเปลี่ยนผ่านสู่โรคประจำถิ่น เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 เพื่อการเตรียมความพร้อมให้สามารถกลับมาให้บริการได้ภายใต้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลง
ซึ่งกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับ คณาจารย์ ผู้ทรงคุณวุฒิ จากคณะแพทยศาสตร์ ราชวิทยาลัย สมาคมวิชาชีพ และภาคส่วนต่างๆ ได้ร่วมจัดทำ แนวทางปฏิบัติสำหรับสถานพยาบาลเรื่องการตรวจคัดกรองโรคโควิด 19 ในผู้ป่วยทั่วไปและบุคลากรทางการแพทย์ในช่วงระยะเปลี่ยนผ่านเข้าสู่โรคประจำถิ่น โดยเน้นให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ความคุ้มค่า ตระหนักถึงการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างสมเหตุสมผล โดยมีแนวทางการเตรียมดูแลผู้ป่วยก่อนผ่าตัด คือ กรณีไม่เร่งด่วน แบ่งเป็น 1. หัตถการที่ไม่ก่อให้เกิดละอองฝอย ไม่ต้องตรวจ ATK 2.หัตถการที่เกิดละอองฝอย (aerosol-generating procedures) เช่น หัตถการทางหู คอ จมูก หัตถการการส่องกล้องทางเดินหายใจ การให้การระงับความรู้สึกทางวิสัญญีที่ต้องมีการใส่ท่อช่วยหายใจ พิจารณาตรวจ ATK หรือ RT- PCR ตามบริบทของสถานบริการ กรณีเร่งด่วน (Emergency case) แบ่งเป็น 1.หากผู้ป่วยมีอาการสงสัยหรือ มีความเสี่ยงต่อ โรคโควิด 19 หรือซักประวัติไม่ได้ ควรตรวจ ATK หรือ RT-PC Rก่อนเข้ารับการผ่าตัดทั้งนี้เมื่อตรวจพบว่ามีการติดเชื้อโควิด 19ให้พิจารณาดำเนินการผ่าตัดตามกระบวนการที่แนะนำในกรณีการผ่าตัดผู้ป่วยโควิด 19 2. หากจำเป็นต้องผ่าตัดด่วนและไม่สามารถรอผลตรวจได้ให้อยู่ในดุลยพินิจของทีมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง โดยให้พิจารณาดำเนินการผ่าตัดตามที่แนะนำในกรณีการผ่าตัดผู้ป่วยโควิด 19
ทั้งนี้ สามารถดาวน์โหลดแนวทางแนวทางปฏิบัติสำหรับสถานพยาบาลเรื่องการตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 ในผู้ป่วยทั่วไป และบุคลากรทางการแพทย์ในช่วงระยะเปลี่ยนผ่านสู่โรคประจำถิ่น ในเว็บไซต์กรมการแพทย์ ฉบับเต็มได้ที่ https://covid19.dms.go.th/Content/Select_Landding_page?contentId=173