โรคกระดูกพรุน

โรคกระดูกพรุน คือ โรคที่ความหนาแน่นของเนื้อกระดูกลดน้อยลงเรื่อย ๆ รวมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะโครงสร้างของกระดูกซึ่งมีผลให้กระดูกบางและเปราะ ไม่สามารถรับน้ำหนักหรือแรงกดดันได้ตามปกติ ทำให้เกิดความเสี่ยงกระดูกหักได้ง่าย


ภาวะที่เนื้อกระดูกลดลงประมาณร้อยละ 30 เป็นภาวะที่เรียกว่า “โรคกระดูกพรุน” มักพบในวัยผู้สูงอายุ จากสถิติพบว่าผู้หญิงเมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนร้อยละ 30 มีภาวะโรคกระดูกพรุน พบโรคกระดูกพรุนร้อยละ 45 ในผู้หญิงอายุมากกว่า 60 ปี และร้อยละ 35 ของผู้ชายจะเป็นโรคนี้เมื่อายุ 75 ปี


กระดูกประกอบด้วยโปรตีนที่เป็นเส้นใยคอลลาเจนและมีแคลเซียมมาตกผลึกจับตัวกับคอลลาเจนกลายเป็นของแข็งที่สามารถรับน้ำหนัก รับแรงกดกระแทก และมีความยืดหยุ่นในตัวเอง


การสร้างกระดูกที่ดีจำเป็นต้องได้รับแคลเซียมและสารอาหารที่เหมาะสม โดยแคลเซียมทำให้กระดูกแข็ง ส่วนโปรตีนในกระดูกโดยเฉพาะคอลลาเจนและโปรตีนอื่น ๆ จะให้กระดูกมีความเหนียวและยืดหยุ่น


ในแต่ละวัยร่างกายสามารถสะสมปริมาณแคลเซียมในมวลกระดูกในระดับที่แตกต่างกัน และมวลกระดูกจะถึงจุดสูงสุดในช่วงอายุ 25-30 ปี หลังจากนั้นมวลกระดูกจะค่อย ๆ ลดลงประมาณร้อยละ 0.5-1 ต่อปี ในช่วงหมดประจำเดือนมวลกระดูกจะลดลงอย่างรวดเร็ว อาจลดลงเร็วถึงร้อยละ 3-5 ต่อปี ทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุนอย่างรวดเร็ว ดังนั้น เพศหญิงจึงมักมีโอกาสเกิดกระดูกพรุนมากกว่าเพศชาย


ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เสียมวลกระดูกอย่างรวดเร็ว ได้แก่ การได้รับสารอาหารโดยเฉพาะแคลเซียมไม่เพียงพอ กรรมพันธุ์ การหมดประจำเดือน การสูบบุหรี่ การไม่ออกกำลังกาย และการเป็นโรคเรื้อรัง


-ขอบคุถณข้อมูลจากสภากาชาดไทย