โรคตาแห้ง

www.medi.co.th

โรคตาแห้งเป็นโรคของผิวหน้าดวงตา เนื่องจากน้ำตาเป็นองค์ประกอบหนึ่งของผิวหน้าดวงตา โดยลักษณะสำคัญของโรคตาแห้งคือ การสูญเสียสภาวะสมดุลของน้ำตา ควบคู่กับการมีอาการทางตา ซึ่งอาการทางตา หมายถึง ระคายเคืองตา ตาแดง น้ำตาไหล กระพริบตาบ่อย ตามัว การมองเห็นที่ผิดปกติไป และความไม่เสถียรของน้ำตา
สาเหตุหลักมาจากการที่ต่อมน้ำตาไม่สามารถผลิตน้ำตาได้เพียงพอ ไม่สามารถรักษาความชุ่มชื้นของดวงตาได้ นำมาสู่อาการอักเสบ ระคายเคืองและอาจเกิดการทำลายพื้นผิวดวงตาได้
โรคตาแห้งเกิดได้หลายสาเหตุมีลักษณะของการสูญเสียสมดุลของน้ำตา โดยน้ำตา (Tear film) มีอยู่ด้วยกัน 3 ชั้น คือ ชั้นไขมัน (Lipid layer) ชั้นน้ำ (Aqueous layer) และชั้นเมือก (Mucous layer) หากเกิดปัญหาที่ชั้นใดชั้นหนึ่งของน้ำตา จะส่งผลให้เกิดภาวะตาแห้งได้
สาเหตุเกิดโรคตาแห้ง
โรคตาแห้งสามารถแบ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดตาแห้งออกได้เป็น 2 สาเหตุหลักๆ คือ 1.) การผลิตน้ำตาลดลง อันมีสาเหตุมาจากอายุที่มากขึ้น เกิดการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายหรือภาวะความเจ็บป่วยบางอย่าง เช่น โรคภูมิแพ้ที่ตา โรคโชเกร็น (Sjogren's syndrome) โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis) โรคลูปัส (Systemic Lupus Erythematosus: SLE) โรคของต่อมไทรอยด์ การขาดวิตามินการใช้ยาบางประเภท หรือหลังผ่าตัดดวงตา เช่น ยาลดความดันโลหิต ยารักษาสิว ยาคุมกำเนิด ยารักษาโรคพาร์กินสันหรือการใส่คอนแทคเลนส์เป็นเวลานานหรือเคยทำเลสิก
2.) น้ำตาเกิดการระเหยไวขึ้น อันมีสาเหตุมาจากต่อมไขมันที่เปลือกตาทำงานผิดปกติ (Meibomian gland dysfunction: MGD) โดยปกติต่อมไมโบเมียนจะทำหน้าที่สร้างน้ำตาชั้นไขมัน ทำให้น้ำตาระเหยได้ช้า หากต่อมนี้ทำงานผิดปกติ จะทำให้น้ำตาระเหยไวขึ้นจนเกิดภาวะตาแห้งในที่สุดการจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนเป็นเวลานานเกินไป
เกิดได้จากปัจจัยทางพันธุกรรม การพักผ่อนไม่เพียงพอ การสูบบุหรี่ หรืออยู่ในบริเวณที่มีลมแรง มีฝุ่นควัน รวมถึงความผิดปกติของเปลือกตา เช่น เปลือกตาม้วนออก (Ectropion)เปลือกตาม้วนเข้า (Entropion) เปลือกตาปิดไม่สนิทและสารกันเสียที่อยู่ในยาหยอดตา เป็นต้น
วิธีการรักษาโรคตาแห้ง ต้องตรวจวิเคราะห์ในเวชปฎิบัติที่เหมาะสม และตรวจพิเศษเพิ่มเติมเช่นการซักประวัติโดยอาจใช้แบบสอบถาม ตรวจวัดปริมาณน้ำตาโดยการตรวจ tear meniscus ตรวจลักษณะขอบเปลือกตาและต่อมมัยโบเมียน การวัดความเข้มข้นของสารที่อยู่ในน้ำตา เป็นต้น
โดยประเมินจากสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงตั้งต้นของโรค ร่วมกับอาศัยผลการตรวจหลายๆ อย่างมาประกอบกัน ในการดูแลผู้ป่วยโรคตาแห้ง การค้นหาสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงของโรคเป็นสิ่งสำคัญมาก เนื่องจากถ้าพบสาเหตุ และสามารถแก้ไขหรือขจัดสาเหตุนั้นได้โรคตาแห้งอาจหายขาดได้ หรือหากเป็นสาเหตุที่แก้ไขไม่ได้ การทราบสาเหตุยังคงมีประโยชน์เนื่องจากจะช่วยให้เข้าใจธรรมชาติของโรคและรู้แนวทางการควบคุมอาการของโรคได้ดีขึ้น ทำให้การรักษาประสบความสำเร็จสูงขึ้นได้เพราะฉะนั้นไม่ว่าใครก็ตามอาจจะเจอปัญหานี้ได้ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของแต่ละคน
สำหรับการดูแลดวงตาเพื่อลดอาการตาแห้ง
การหยุดพักสายตาเป็นช่วงๆ หากต้องใช้เวลาทำงานเป็นเวลานาน โดยหลับตา 1-2 นาที หรือกระพริบตาถี่ๆ เพื่อช่วยกระจายน้ำตาให้เคลือบทั่วดวงตา หรือหยอดน้ำตาเทียมเป็นประจำ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตา หลีกเลี่ยงการโดนลมแรงๆ ปะทะดวงตาโดยตรง เช่น ลมจากพัดลม เครื่องปรับอากาศ ที่เป่าผมควรสวมแว่นกันแดดหรือแว่นที่ครอบดวงตา เพื่อป้องกันแสงและลมหากจำเป็นต้องอยู่ในบริเวณที่มีอากาศแห้ง ควรหลับตาเป็นพักๆ เพื่อลดการระเหยของน้ำตา ควรตั้งจอคอมพิวเตอร์ให้อยู่ระดับต่ำกว่าสายตา เพื่อลดการระเหยของน้ำตา เนื่องจากหากตั้งอยู่สูงกว่าระดับสายตา ตาจะต้องเปิดกว้างขึ้น ทำให้ตาแห้งง่ายมากขึ้น
ไม่ใส่คอนแทคเลนส์เป็นเวลานาน ควรหยุดสูบบุหรี่ หรือหลีกเลี่ยงควันบุหรี่ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำให้มาก รับประทานอาหารที่มีปริมาณวิตามินเอสูง เช่น น้ำมันตับปลา เครื่องในสัตว์ ไข่แดง แครอทบร็อคโคลี่ ฟักทอง หรือกรดไขมันโอเมก้า 3 สูง เช่น ปลาทะเลน้ำลึก เมล็ดแฟลกซ์ วอลนัท น้ำมันข้าวโพด น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำข้าว
ดังนั้น จึงควรที่จะรู้จักกับอาการตาแห้งเพื่อจะได้ไม่เกิดอาการวิตกกังวลจนเกินเหตุ รวมถึงจะได้สามารถตั้งรับ รู้วิธีการรักษาเบื้องต้นได้ด้วยตัวเอง ทั้งนี้หากมีอาการที่รุนแรงแนะนำให้พบจักษุแพทย์