นพ.ธีรพล โตพันธานนท์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคความดันโลหิตสูง เป็นสาเหตุสำคัญต่อการเกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง ซึ่งภาวะความดันเลือดสูง (มากกว่า 140/90 มม.ปรอท) เป็นอยู่นานและไม่ได้รับการรักษา จะทำให้เกิดการทำลายอวัยวะสำคัญต่าง ๆ ในร่างกายได้ เช่น หัวใจ สมอง ไต ตา และหลอดเลือด ส่งผลให้เกิดอันตรายจากภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง อัมพาต โรคไตวาย หรือตาบอดได้ สำหรับในประเทศไทยปัญหาโรคความดันโลหิตสูงพบมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุ และมีแนวโน้มสูงขึ้นตามอายุที่มากขึ้น ทั้งนี้ ความดันโลหิตสูงในระยะแรก ๆ อาจไม่มีอาการ แต่ความผิดปกติที่มักตรวจพบได้ก่อน คือ มีหัวใจห้องล่างซ้ายโตหรือมีโปรตีนรั่วในปัสสาวะ ส่วนอาการที่อาจพบได้กรณีที่ความดันโลหิตสูงมากๆ เช่น เหนื่อยง่าย ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว คลื่นไส้ เป็นต้น ภาวะความดันโลหิตสูง จึงมักได้รับการขนานนามว่าเป็น “เพชฌฆาตเงียบ” สาเหตุเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่ พันธุกรรม อายุ เพศ เชื้อชาติ ภาวะอ้วน หรือนํ้าหนักเกิน ภาวะเครียด ขาดการออกกำลังกาย รับประทานอาหารเค็ม (เกลือโซเดียมมากเกินไป) รับประทานอาหารที่มีไขมันสูง รับประทานอาหารหวานจัด สูบบุหรี่จัด ดื่มสุราเป็นประจำ
ความรุนแรงจากภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคความดันโลหิตสูง หากไม่สามารถควบคุมระดับความดันโลหิตได้จะทำให้เกิดอันตรายต่ออวัยวะสำคัญ ได้แก่ สมอง หัวใจ หลอดเลือด ตา และไต โดยสังเกตอาการที่เกิดกับอวัยวะต่าง ๆ ดังนี้ 1. สมอง จะเป็นสาเหตุทำให้เกิดหลอดเลือดตีบ อุดตัน หรือหลอดเลือดในสมองแตก มีเลือดออกในเนื้อสมองส่งผลให้เกิดอัมพาต อัมพฤกษ์ หากพบอาการปากเบี้ยว พูดไม่ชัด แขนขาอ่อนแรง ต้องรีบมาโรงพยาบาลภายใน 1 ชั่วโมง เพราะอาจทำให้เสียชีวิตหรือทำให้เลือดออกในสมองรุนแรงได้ 2. หัวใจ ความดันโลหิตสูงจะมีผลต่อหัวใจ 2 ทาง คือ ทำให้หัวใจโต และหลอดเลือดหัวใจหนาตัวและแข็งตัวขึ้น เกิดจากหลอดเลือดหัวใจตีบหรืออุดตัน จะมีอาการเจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือดหรือหัวใจล้มเหลวเหนื่อยหอบ นอนราบไม่ได้ หัวใจเต้นผิดปกติ ใจสั่น และอาจเสียชีวิต หากมีอาการดังกล่าวแล้วนั่งพัก 3-5 นาที อาการยังไม่ดีขึ้นต้องรีบพบแพทย์ทันที 3. หลอดเลือด ความดันโลหิตสูงจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือดทั่วร่างกาย ทำให้หลอดเลือดแดงตีบแคบ หรือหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง อาจเกิดการฉีกขาด เจ็บหน้าอกอย่างรุนแรง หรือเสียชีวิตเฉียบพลันได้ 4. ตา ความดันโลหิตสูงมีผลต่อหลอดเลือดที่ตา เช่น เลือดออกที่จอประสาทตา หลอดเลือดเล็กที่จอประสาทตาอุดตัน หรือจอประสาทตาหลุดลอกออกได้ ทั้งนี้ ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการใด ๆ หรืออาจมีอาการตามัว จนถึงตาบอดได้ 5. ไต ความดันโลหิตสูงมีผลต่อหลอดเลือดที่ไต ทำให้เลือดไปเลี้ยงไตไม่เพียงพอ ทำให้ไตเสื่อมสมรรถภาพและอาจทำให้เกิดไตวายเรื้อรัง ผู้ป่วยจะมีอาการเริ่มแรกของภาวะไตวายเรื้อรัง คือ ปัสสาวะตอนกลางคืนมากกว่า 3 ครั้งต่อคืน ขาบวมตอนเช้าหลังตื่นนอน มีอาการอ่อนเพลีย ไม่ค่อยมีแรงจากภาวะซีด มักพบในผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง หรือมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ซึมลงในผู้ป่วยไตวายระยะท้าย ๆ ปัสสาวะมีสีขุ่นและเป็นฟองมาก
ความดันโลหิตสูงสามารถควบคุมหรือป้องกันให้อยู่ในภาวะปกติได้ด้วยการควบคุมอาหารที่มีผลต่อความดันโลหิต ซึ่งอาหารที่มีเกลือ (โซเดียม) สูง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง จึงควรลดการรับประทานอาหารผ่านกระบวนการอาหารสำเร็จรูป อาหารหมักดอง อาหารกระป๋องและอาหารขยะ (junk food) ซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่มีโซเดียมสูง ลดอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูง เพิ่มการบริโภคผักและผลไม้ที่หวานน้อย เช่น พืชตระกูลถั่ว กล้วย ส้ม แตงโม ควรลดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และงดการสูบบุหรี่ ทำอารมณ์ให้แจ่มใส ไม่เครียด และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ