โรคไข้คิว (Q FEVER)

ลักษณะโรค : เป็นโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคนที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ชื่อว่า Coxiella burnetii ที่มักเกิดจากการประกอบอาชีพเกี่ยวข้องกับสัตว์ อาการเริ่มแรกคล้ายไข้หวัดใหญ่ มีไข้ชนิดเฉียบพลัน โรคไข้คิวสามารถนำมาทำอาวุธชีวภาพได้ เนื่องจากทนกับสภาพแวดล้อมได้ดี และสามารถติดต่อทางอากาศเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ
ระบาดวิทยา
                 สถานการณ์ทั่วโลก : พบการระบาดได้ทั่วโลก ยกเว้นประเทศนิวซีแลนด์ โดยพบรายงานการเกิดโรคครั้งแรกในปี พ.ศ. 2478 ที่รัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งทำให้คนงานในโรงฆ่าสัตว์ป่วยจากการสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่งของสัตว์ป่วย โดยเฉพาะส่วนระบบสืบพันธุ์ (reprpductive tissue)
สถานการณ์โรคในประเทศไทย : ในปี พ.ศ. 2509 มีรายงานผู้ป่วยโรคไข้คิวรายแรกในประเทศไทย จากจังหวัดสมุทรสาคร จากการศึกษาทางระบาดวิทยา พบว่า โรคไข้คิวเป็นโรคประจำถิ่นของหมู่บ้านที่ผู้ป่วยอาศัยอยู่และมีความเป็นไปได้ว่าสุนัขเป็นสัตว์รังโรค และในปี พ.ศ. 2546 มีการศึกษาไปข้างหน้า โดยเปรียบเทียบอุบัติการณ์จากกลุ่มที่ได้สัมผัสกับเหตุ ปัจจัยเสี่ยง และกลุ่มที่ไม่ได้สัมผัส (Prospective study) ในผู้ป่วยที่มีไข้ชนิดเฉียบพลันที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 4 แห่ง ในพื้นที่ต่าง ๆ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย พบผู้ป่วยโรคไข้คิวชนิดเฉียบพลัน จำนวน 9 ราย โดยส่งตรวจซีรั่มวิทยาในประเทศฝรั่งเศส จากข้อมูลนี้ทำให้สามารถยืนยันได้ว่า นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2509 โรคไข้คิวได้มีการแพร่กระจายอยู่ในประเทศไทย สำหรับการศึกษาความชุกของโรค พบว่า ความชุกของผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการมีความแปรผันที่ร้อยละ 0.4 - 2.6 ในสัตว์เลี้ยงพบความชุกการติดเชื้อที่สูงที่สุดในสุนัข ที่ร้อยละ 28.1 ส่วนความชุกการติดเชื้อในแพะ แกะ และโค กระบือ มีความแปรผันตั้งแต่ร้อยละ 2.3 - 6.1 และในเดือนมกราคม พ.ศ. 2554 พบผู้ป่วยเยื่อบุหัวใจอักเสบ สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อ Coxiella burnetii จำนวน 4 ราย จากการวิจัยในโครงการหาสาเหตุการเกิดโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบในผู้ป่วยที่ดำเนินการโดยโครงการโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ (International Emerging Infections Program; IEIP) ร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น

อาการของโรค
                 หนาวสั่น ปวดศีรษะ ไม่มีแรง ปวดกล้ามเนื้อ และเหงื่อออกมาก จากการตรวจเอกซเรย์อาจพบอาการปอดบวม อาการไอ มีเสมหะ เจ็บหน้าอกและอาการทางปอดไม่เด่นชัด ซึ่งสามารถเกิดได้ในผู้ที่มีโรคลิ้นหัวใจอยู่เดิม ตรวจพบหน้าที่การทำงานของตับผิดปกติ ตับอักเสบชนิดเฉียบพลันหรือเรื้อรัง ซึ่งอาจสับสนกับโรคตับอักเสบจากวัณโรคได้ ลักษณะของโรคไข้คิวเรื้อรังหลัก ๆ คือ เยื่อบุหัวใจอักเสบ
ระยะฟักตัวของโรค
                 ขึ้นอยู่กับจำนวนเชื้อ ระยะฟักตัวโดยประมาณ 2 - 3 สัปดาห์ หรือพบในช่วง 3 - 30 วัน
การวินิจฉัยโรค
                 การตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการแสดงให้เห็นแอนติบอดีจำเพาะที่เพิ่มขึ้น ระหว่างระยะเฉียบพลัน และระยะพักฟื้น โดยวิธี IndirectFluorescent (IF) หรือ Complement Fixation test (CF) หรือโดยการตรวจ IgM โดยวิธี IF หรือ ELISA การวินิจฉัยจะใช้การเตรียมแอนติเจน 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 แทนสารก่อโรค และระยะที่ 2 เป็นชนิดที่สร้างขึ้นจากการตัด LPS ในห้องปฏิบัติการ ในระยะเฉียบพลัน แอนติบอดีต่อแอนติเจนระยะที่ 2 จะมีระดับที่สูงกว่าแอนติบอดีระยะที่ 1 และในโรคเรื้อรัง ผลจะกลับกัน ระดับไตเตอร์ของ
การรักษา
                 โรคชนิดเฉียบพลัน; ให้รับประทานยาเตตราซัยคลิน (Tetracyclines) (โดยเฉพาะ Doxycycline) ทางปาก 14 - 21 วัน ยาด๊อกซีซัยคลิน (Doxycycline) และไฮดรอกซีคลอโรควีน (Hydroxychloroquine) อาจช่วยป้องกันการเกิดโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบในผู้ป่วยโรคไข้คิว และลิ้นหัวใจชนิดเฉียบพลัน ยาควิโนโลน (Quinolones) ใช้ในการรักษาโรคไข้คิว (ยาเอ็นบี เตตราซัยคลิน (NB Tetracycline) ไม่สามารถใช้ในเด็กที่อายุตํ่ากว่า 8 ปี) ในกรณีหญิงตั้งครรภ์ ยาโคไตรม๊อกซาโซล (Cotrimoxazole) ใช้ได้ตลอดระยะตั้งครรภ์ โรคชนิดเรื้อรัง (โรคเยื่อบุหัวใจอักเสบ); ใช้ยาด๊อกซีซัยคลิน (Doxycycline) ร่วมกับยาไฮดรอกซีคลอโรควีน (hydroxychloroquine) เป็นเวลา 18 - 36 เดือน หรือใช้ยาด๊อกซีซัยคลิน (Doxycycline) ทานร่วมกับยาไรแฟมปิซิพิน (Rifampicin) เป็นเวลา 3 ปี หรือ ใช้ยาด๊อกซีซัยคลิน (Doxycycline) ทานรวมกับยาควิโนโลน (Quinolone) การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจที่ติดเชื้อเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ป่วยบางราย เพื่อเหตุผลด้านการไหลเวียนโลหิต

การแพร่ติดต่อโรค
                 เชื้อ Coxiella จะออกมากับนํ้านม อุจจาระ ปัสสาวะ ของสัตว์ป่วย อยู่ในรกและมดลูก ต่อมผลิตนํ้านมและต่อมนํ้าเหลืองที่เต้านม เชื้อทนความร้อนและความแห้งแล้งได้ดี จึงอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นาน โดยทั่วไปติดต่อได้จากการหายใจเอาฝุ่นที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่งจากสัตว์รังโรคที่แพร่กระจายในอากาศเข้าไป ซึ่งฝุ่นละอองที่ปนเปื้อนเชื้อเหล่านี้สามารถลอยไปตามลมได้ไกลถึง 1 กิโลเมตร หรือมากกว่า การติดต่ออาจเกิดจากการดื่มนํ้านมดิบจากโค และแพะที่ติดเชื้อ หรือจากการสัมผัสโดยตรงกับเนื้อเยื่อ เลือด ปัสสาวะ หรือสัมผัสวัสดุที่ปนเปื้อนเชื้ออื่น ๆ เช่น ขนสัตว์ ฟาง ปุ๋ย และการซักรีดวัสดุที่ปนเปื้อน การติดเชื้อจากเห็บกัด และจากคนสู่คน เช่น จากมารดาที่ติดเชื้อแพร่ไปสู่ลูก หรือจากการชันสูตรศพที่ติดเชื้อเกิดขึ้นน้อย
มาตรการป้องกันโรค
                 1. ให้ความรู้แก่ผู้ทำอาชีพเสี่ยงสูง เช่น เกษตรกรที่เลี้ยงแกะ แพะ และทำฟาร์มนม คนงานทำงานโรงฆ่าสัตว์ โรงงานชำแหละเนื้อ นักวิจัยด้านปศุสัตว์ ฯลฯ ซึ่งอาจเป็นแหล่งของการติดเชื้อ และความจำเป็นสำหรับการฆ่าเชื้อโรคอย่างพอเพียง และความเข้าใจในเรื่องการจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากสัตว์ จำกัดการปล่อย โรงนา และห้องปฏิบัติการกับสัตว์ที่ติดเชื้อและเข้มงวดกับวิธีการฆ่าเชื้อผลิตภัณฑ์นม เช่น การพาสเจอร์ไรส์นม
                 2. การทำลายเชื้อแบบพาสเจอร์ไรส์นมวัว นมแพะ และนมแกะที่อุณหภูมิ 62.7oซ. (145oฟ.) 30 นาที หรือที่อุณหภูมิ 71.6oซ. (161oฟ.) 15 วินาที หรือการต้มเดือด เพื่อกำจัดเชื้อ Coxiella สาเหตุของโรคไข้คิว
                 3. กำจัดสัตว์ที่ติดโรคในฝูงปศุสัตว์โดยการคัดแยกและฆ่า
                 4. ใช้มาตรการป้องกันการสัมผัสโดยตรงกับเชื้อ เช่น การใช้ถุงมือยางและการล้างมือภายหลังการจับต้องรกและสารคัดหลั่ง รวมทั้งการฆ่าเชื้อบริเวณที่ปนเปื้อนสิ่งเหล่านี้
                 5. สร้างเสริมภูมิคุ้มกันด้วยการฉีดวัคซีนชนิดเชื้อตายในการป้องกันเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ และผู้ที่ต้องปฏิบัติงานกับเชื้อ Coxiella burnetii ที่มีชีวิต รวมถึงคนงานที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ อาชีพเสี่ยงอื่น ๆ และนักวิจัยด้านการแพทย์ที่ต้องใช้แกะท้องในงานวิจัย
                  6. นักวิจัยที่ใช้ตัวอย่างแกะท้อง ควรรับรู้และเข้าสู่โปรแกรมการเฝ้าระวัง และการให้ความรู้ด้านสุขภาพ รวมถึงการประเมินด้านซีรั่มมาตรฐาน ตามด้วยการประเมินประจำปี คนที่มีความเสี่ยง เช่น ผู้ป่วยที่เป็นโรคเกี่ยวกับลิ้นหัวใจ หญิงตั้งครรภ์ และคนที่ถูกกดภูมิคุ้มกัน ควรได้รับคำแนะนำด้านความเสี่ยงต่อการป่วยที่รุนแรงที่เกิดจากโรคไข้คิว สัตว์ที่ใช้ในงานวิจัยสามารถประเมินการติดเชื้อโรคไข้คิวทางนํ้าเหลืองวิทยา เสื้อผ้าที่ใช้ในห้องปฏิบัติการต้องมีการใส่ถุง และซักทำความสะอาดอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันการติดเชื้อไปสู่คนซักรีด อุปกรณ์ที่ทำงานกับแกะควรเก็บแยกจากพื้นที่ที่อาศัยของคน และมีการใช้มาตรการเพื่อการป้องกันการไหลเวียนของอากาศไปสู่พื้นที่อื่น ๆ และไม่อนุญาตให้มีการเข้าเยี่ยมชมพื้นที่
มาตรการควบคุมการระบาด
                 การระบาดจะเกิดในเวลาสั้น ๆ มาตรการควบคุมจะจำกัด เพื่อการกำจัดแหล่งการติดเชื้อ การเฝ้าสังเกตผู้สัมผัสโรค และการให้ยาปฏิชีวนะกับผู้ป่วย การตรวจติดตามในกลุ่มเสี่ยง เช่น หญิงตั้งครรภ์ผู้ถูกกดภูมิคุ้มกัน และผู้ป่วยที่เป็นโรคลิ้นหัวใจ


 


 


เอกสารอ้างอิง : Heymann DL., Editor, Control of Communicable Diseases Manual 19th Edition, American Associationof Public Health, 2008.
ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล : https://www.pidst.or.th/A246.html