โรคติดเชื้อไวรัสฮานตา (HANTAVIRAL DISEASES)

โรคนี้สามารถทำให้เกิดกลุ่มอาการไข้เลือดออกร่วมกับกลุ่มอาการทางไต และชนิดที่เป็นโรคระบบทางเดินหายใจ
     A : กลุ่มอาการไข้เลือดออกร่วมกับกลุ่มอาการทางไต (HEMORRHAGIC FEVER WITH RENAL SYNDROME)
     1. ลักษณะโรค : เป็นโรคติดเชื้อเฉียบพลันจากเชื้อไวรัสที่ติดต่อจากสัตว์มาสู่คน เชื้อก่อโรค ได้แก่ เชื้อไวรัสฮานตา(Hantaviruses) อยู่ในวงศ์ Bunyaviridae
     2. ระบาดวิทยา :
     สถานการณ์ทั่วโลก : โรคที่เกิดจากไวรัสฮานตาพบมากและกลายเป็นปัญหาสาธารณสุขในจีน โดยมีรายงานโรคปีละประมาณ 40,000 - 100,000 ราย ระยะไม่กี่ปีมานี้มีรายงานโรคในเกาหลีปีละประมาณ 1,000 ราย โรคจะเกิดมากน้อยตามฤดูกาล โดยพบมากที่สุดในช่วงปลายฤดูใบไม้ผลิต่อต้นฤดูหนาว โดยส่วนใหญ่พบในคนชนบทในคาบสมุทรบอลขาน พบโรคชนิดรุนแรงจากไวรัสฮานตา หรือไวรัสโดบราวา ปีละ 200 - 300 ราย โดยอัตราตายสูงไม่น้อยกว่าที่พบในเอเชีย ผู้ป่วยส่วนใหญ่พบในฤดูใบไม้ผลิและช่วงต้นฤดูร้อน ผู้ป่วยที่มีพยาธิสภาพที่ชั้นนอกของไต (nephropathia epidemica) จากไวรัสพูอูมาลา ส่วนใหญ่พบในยุโรป รวมทั้งรัสเซีย แถบตะวันตกของเทือกเขาอูราล และแถบคาบสมุทรบอลขานมักพบโรคในช่วงฤดูร้อน หรือปลายฤดูใบไม้ร่วง และต้นฤดูหนาวกลุ่มอาการเหล่านี้ที่พบในนักวิจัยทางการแพทย์หรือคนเลี้ยงสัตว์ในเอเชียและยุโรป มักเกิดจากหนู (rat) ในห้องทดลองที่ติดเชื้อไวรัสโซล ไวรัสโซลมักแยกได้จากหนูที่จับได้ในเมืองใหญ่ทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยสหรัฐอเมริกา บราซิล และอาร์เจนตินา แต่ที่พบความสัมพันธ์กับการเกิดโรคในผู้ป่วยมีเฉพาะในจีนและรัสเซีย ส่วนที่อยู่ในเอเชียปัจจุบันมีเทคนิคการตรวจใหม่ ๆ ทำให้พบเชื้อโรคไวรัสฮานตาและการติดเชื้อไวรัสฮานตาทั่วโลก
     สถานการณ์โรคในประเทศไทย : ในปี พ.ศ. 2528 เคยมีรายงานการพบแอนติบอดีต่อ Hanta - like virus ในผู้ป่วย ที่จังหวัดกาญจนบุรีและกรุงเทพฯ (Edwell, R.M.และคณะ) และต่อมาในปี พ.ศ. 2541 มีการศึกษาในผู้ป่วยมีไข้ไม่ทราบสาเหตุ ที่คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล (แพทย์หญิงยุพิน ศุพุทธมงคล) พบผู้ป่วย 1 ราย ในกรุงเทพฯ มีผลยืนยันการวินิจฉัยโดยวิธี ELISA ว่าติดเชื้อ Hanta - like virus และปีต่อ ๆ มาพบแอนติบอดีชนิด IgG ในผู้ป่วยกลุ่มอาการนี้อีกหลายราย นอกจากนั้น ข้อมูลการศึกษาของศูนย์วิจัยโรคติดเชื้อไวรัสชนิดระบาดใหม่ (โครงการความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดล) ก็แสดงให้เห็นว่า มีไวรัสนี้ทั้งในคนและในสัตว์ฟันแทะ เช่น Rattus rattus, Rattus exulans, Rattus norvegicus, Bandicota indica, Bandicota savilei อยู่ในช่วงระหว่างร้อยละ 2 - 24 ซึ่งข้อมูลดังกล่าวชี้ให้เห็นว่ามีเชื้อไวรัสฮานตาแพร่กระจายอยู่ในประเทศไทย
     3. อาการของโรค : อาการเริ่มด้วยมีไข้ฉับพลัน ปวดเอว มีเลือดออกลักษณะต่าง ๆ มากน้อยแตกต่างกันไป และอาการทางไต อาการของโรคจะแบ่งเป็น 5 ระยะ คือ
     ก) ระยะไข้
     ข) ระยะความดันโลหิตตํ่า
     ค) ระยะปัสสาวะน้อย
     ง) ระยะปัสสาวะมาก
     จ) ระยะฟื้นไข้
     ระยะที่มีไข้มักจะเป็นอยู่นาน 3 - 7 วัน ซึ่งจะมีลักษณะเฉพาะ คือ ไข้สูง ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย และเบื่ออาหาร ตามด้วยอาการปวดท้องหรือปวดเอวมาก ร่วมกับอาการคลื่นไส้ อาเจียน และหน้าแดง ตาแดง และมีจุดเลือดออกในชั้นผิวหนัง ต่อมาเป็นระยะความดันโลหิตตํ่า อาจเกิดนานหลาย ๆ ชั่วโมง จนถึง 3 วัน มักมีอาการตัวเย็น ความดันตกฉับพลันอาจถึงเกิดภาวะช็อก และเลือดออกจะปรากฏมากขึ้น ในระยะปัสสาวะน้อย ความดันโลหิตจะกลับปกติหรือสูงกว่าปกติ ระยะอาจเกิดนาน 3 - 7 วัน อาจยังคงมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เลือดออกมาก และปัสสาวะจะน้อยลงอย่างมาก
     4. ระยะฟักตัวของโรค : อาจสั้นเพียงไม่กี่วันหรือนานได้ถึง 2 เดือน ส่วนใหญ่ประมาณ 2 - 4 สัปดาห์
     5. การวินิจฉัยโรค : ทำได้โดยการตรวจ ELISA หรือ IFAหาแอนติบอดีจำเพาะต่อเชื้อ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะพบแอนติบอดีชนิด IgM ตั้งแต่แรกเข้าโรงพยาบาล การตรวจที่ช่วยสนับสนุนการวินิจฉัยโรค ได้แก่ การพบโปรตีนในปัสสาวะ เม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้น ภาวะเลือดข้น เกล็ดเลือดตํ่าและระดับยูเรียไนโตรเจนในเลือดสูงขึ้น ไวรัสฮานตาอาจถ่ายทอดได้อย่างจำกัดในเซลล์เพาะเลี้ยง และหนูทดลองเพื่อการศึกษาวิจัยทั้งหนูแรท (rat) และหนูไมซ์ (mouse) ในการวินิจฉัยแยกโรคต้องนึกถึงโรคเลปโตสไปโรสิสและโรคริกเกตเซียเสมอ
     6. การรักษา : ต้องดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างเหมาะสม และระมัดระวังในระยะช็อกและไตวาย ป้องกันการให้สารนํ้ามากเกินไป การให้ยาไรบาวิริน (Ribavirin) เข้าทางหลอดเลือดโดยเร็วที่สุดตั้งแต่วันแรกที่เริ่มป่วยพบว่ามีประโยชน์
     7. การแพร่ติดต่อโรค : เกิดโดยการสูดเอาละอองจากสิ่งขับถ่าย ได้แก่ ปัสสาวะ อุจจาระ และนํ้าลายของสัตว์ฟันแทะที่ติดโรคโดยไม่มีอาการ โดยพบได้มากที่สุดในปอด
     8. มาตรการป้องกันโรค :
        1. ป้องกันหรือขจัดสัตว์ฟันแทะ มิให้เข้าไปในบ้านเรือนหรืออาคาร
        2. เก็บอาหารไว้ในที่ที่สัตว์ฟันแทะเข้าไปกินไม่ได้
        3. ฆ่าเชื้อบริเวณที่มีสัตว์ฟันแทะ โดยการพ่นนํ้ายาฆ่าเชื้อโรค (เช่น สารฟอกขาวที่เจือจาง) ก่อนทำความสะอาด ห้ามใช้วิธีการกวาดหรือดูดฝุ่นบริเวณที่หนูเคยเข้าไป ให้ใช้วิธีถูด้วยผ้าเปียกหรือโดยใช้ผ้าชุบสารเคมีฆ่าเชื้อโรค
        4. ดักและกำจัดสัตว์ฟันแทะด้วยวิธีการที่เหมาะสม ไม่แนะนำวิธีการดักจับเป็น ๆ
        5. ในบริเวณที่มีสัตว์อยู่มาก ลดการสัมผัสกับสัตว์ฟันแทะในป่า รวมทั้งสิ่งขับถ่ายจากตัวสัตว์เหล่านั้น
        6. สัตว์ฟันแทะในห้องทดลองโดยเฉพาะหนูท่อ (Rattusnorvegicus) ให้ตรวจสอบว่าไม่มีตัวใดติดเชื้อไวรัสฮานตาโดยไม่มีอาการ
        9. มาตรการควบคุมการระบาด : ควบคุมสัตว์ฟันแทะ เฝ้าระวังการติดเชื้อโรคไวรัสฮานตาในสัตว์ฟันแทะในป่า หากตรวจพบความสัมพันธ์ระหว่างเชื้อโรคในสัตว์และในผู้ป่วย ให้ขจัดกวาดล้างสัตว์ฟันแทะต่าง ๆ รวมทั้งการฆ่าเชื้ออย่างทั่วถึงด้วย


     B : โรคระบบทางเดินหายใจจากการติดเชื้อไวรัสฮานตา (HANTAVIRUS PULMONARY SYNDROME)
     1. ลักษณะโรค : เป็นโรคติดเชื้อเฉียบพลันจากเชื้อไวรัสที่ติดต่อจากสัตว์มาสู่คน ในทวีปอเมริกาสามารถแยกเชื้อได้ 2 ชนิด หรือมากกว่านั้น เชื้อไวรัสซินนอมเบร (Sin Nombre virus) พบในผู้ป่วยส่วนมากในอเมริกาเหนือ และเชื้อไวรัสแบล็คครีกคะแนล (Black Creek Canal virus) พบในผู้ป่วยที่รัฐฟลอริดา มีเชื้ออีกอย่างน้อย 2 ชนิด ที่แยกได้จากเนื้อเยื่อของคน พบปฏิกิริยาทางนํ้าเหลืองข้ามสายพันธุ์กับไวรัสฮานตาชนิดอื่น โดยเฉพาะกับไวรัสพรอสเพ็คฮิลล์ และพูอูมาลา
     2. ระบาดวิทยา :
     สถานการณ์ทั่วโลก : พบผู้ป่วยครั้งแรกในช่วงฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน ในปี พ.ศ. 2536 บริเวณจุดต่อสี่มุม (Four Corners area) ของรัฐนิวเม็กซิโกและรัฐอริโซนา ในคนพื้นเมืองของอเมริกา หลังจากนั้นมีการพบผู้ป่วยที่ยืนยันการวินิจฉัยในแคนาดาและฝั่งตะวันออกของอเมริกา พบผู้ป่วยประปรายทางฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกา (อาร์เจนตินา โบลิเวีย บราซิล ชิลี และปารากวัย) รวมทั้งในรัฐฟลอริดา โรดไอแลนด์ นิวยอร์กและอินเดียนา โรคนี้ไม่จำกัดเฉพาะในคนบางเผ่าพันธุ์เท่านั้น การพบโรคมากหรือน้อยตามฤดูกาล จะสัมพันธ์กับการเพิ่มจำนวนของสัตว์ฟันแทะในแถบนั้น อัตราการตายโดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 40 - 50 ผู้ป่วย 103 รายแรกที่พบนั้น มีอัตราตายสูงถึงร้อยละ 52 ส่วนผู้ที่รอดชีวิตการฟื้นไข้เป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยปอดกลับมาทำงานได้เหมือนปกติ ไม่ปรากฏอาการทางไตและอาการเลือดออก ยกเว้นในบางรายที่อาการรุนแรง
     สถานการณ์โรคในประเทศไทย : ยังไม่พบรายงานของโรคนี้
     3. อาการของโรค : ไข้ ปวดกล้ามเนื้อ และอาการของระบบทางเดินอาหาร ตามด้วยอาการหายใจลำบากชนิดฉับพลัน (ดังรูปที่ 1) และความดันโลหิตตํ่า อาการจะทรุดลงอย่างรวดเร็วจนเกิดภาวะหายใจวายและช็อกจากหัวใจล้มเหลว ความเข้มข้นเลือดสูง มีโปรตีนอัลบูมินในกระแสเลือดตํ่าและเกล็ดเลือดตํ่า อัตราตายสูงถึงร้อยละ 35 - 50 ในผู้ที่รอดชีวิต การฟื้นไข้เป็นไปอย่างรวดเร็ว แต่จำเป็นต้องใช้เวลาพักฟื้นหลายสัปดาห์ ปอดจึงสามารถกลับมาทำหน้าที่ได้เหมือนปกติ ไม่ปรากฏอาการทางไตและอาการเลือดออก ยกเว้นในบางรายที่อาการรุนแรง

     รูปที่ 1 ภาพถ่ายเอกซเรย์ปอดผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจจากการติดเชื้อไวรัสฮานตา พบนํ้าในเยื่อหุ้มปอด ทั้งสองข้าง (This AP chest x-ray reveals the midstaged bilateral pulmonary effusion due to Hantavirus pulmonary syndrome, or HPS)
     4. ระยะฟักตัวของโรค : ยังไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าประมาณ 2 สัปดาห์ อาจอยู่ในช่วงนานระหว่าง 2 - 3 วัน ถึง 6 สัปดาห์
     5. การวินิจฉัยโรค : ทำโดยการตรวจพบแอนติบอดีชนิด IgM ที่จำเพาะโรคโดยวิธี ELISA วิธี Western blot หรือเทคนิค strip immunoblot ผู้ป่วยส่วนใหญ่พบแอนติบอดีต่อเชื้อดังกล่าวตั้งแต่แรกเข้าโรงพยาบาล ในห้องปฏิบัติการ บางแห่งสามารถตรวจโดยเทคนิคพิเศษ คือ PCR ในชิ้นเนื้อจากผู้ป่วยหรือจากศพ รวมทั้งวิธี immunohistochemistry
     6. การรักษา : ให้การดูแลอภิบาลระบบทางเดินหายใจอย่างเต็มที่ ระมัดระวังมิให้สารนํ้าเกินอันจะนำไปสู่ภาวะปอดบวมคั่งนํ้า ควรให้ยากระตุ้นหัวใจ และเพิ่มความดันโลหิตแต่เนิ่น ๆ ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันภาวะช็อก ให้ออกซิเจนอย่างเต็มที่โดยเฉพาะในรายที่ต้องส่งต่อ
เอกสารอ้างอิง :
1. สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค. ความรู้เรื่องโรคติดเชื้อไวรัสฮานตา. [สืบค้นเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2554] : จาก : URL: http://beid.ddc.moph.go.th/th_2011/content.php?items= 251.
2. Heymann DL., Editor, Control of Communicable Diseases Manual 19th Edition, American Association of Public Health, 2008.
3. Mandell GL, Bennett JE, Dolin R. Mandell, Douglas, and Bennett’s , editor. Principles and Practice of Infectious Diseases. 7th ed. Philadelphia(USA): Elsevier; 2010.

ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล : สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข  , https://www.pidst.or.th/A224.html