ข้อไหล่ติด โรคใกล้ตัวผู้สูงวัย

www.medi.co.th


รอบๆ ตัวเราจะพบว่า ผู้สูงอายุหรือผู้ใหญ่หลายๆท่านจะเริ่มมีข้อไหล่ติด(อายุ 40 ถึง 60 ปี ) หรือมีพิสัยการเคลื่อนที่ของข้อไหล่ที่น้อยลง บางรายก็มีอาการเจ็บ บางรายก็ไม่มีอาการเจ็บ วันนี้หมอจะมาเล่าให้ฟังครับว่าสาเหตุเกิดจากอะไร และมีแนวทางในการรักษาอย่างไร


สาเหตุนั้น อาจเป็นจากโรคเบาหวาน, กรรมพันธุ์ หรือเกิดการอักเสบขึ้นโดยส่วนใหญ่จุดเริ่มต้นจะมาจาก เนื้อเยื่อหุ้มข้อไหล่ และ/หรือ เส้นเอ็นที่ชื่อว่า supraspinatus ครับ เนื้อเยื่อนี้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกหนีบโดยกระดูกข้อไหล่ได้ง่ายๆ การเสียดสีและการถูกหนีบเป็นระยะเวลาหลายๆปี ทำให้เกิดการอักเสบขึ้น ส่งผลต่อเนื่องทำให้ข้อไหล่ขยับได้ไม่สุด หลังจากนั้นข้อไหล่ก็จะติดมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะว่าเราไม่สามารถขยับไปตรงมุมที่มีอาการเจ็บนั่นเอง พังผืดก็จะค่อยๆเพิ่มมากขึ้นตามมา ส่งผลให้เกิดโรคข้อไหลติดในที่สุดครับ


“ระยะของตัวโรคแบ่งเป็นสามระยะ”
Freezing stage ระยะข้อไหล่ติดและปวด อาการอยู่ที่ช่วง 6สัปดาห์ถึง 9 เดือน ระยะนี้จะปวดมากขึ้นและข้อไหล่จะติดมากขึ้น
Frozen stage ระยะนี้จะใช้เวลา 4-6เดือนผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการปวดลดลง แต่ข้อไหล่ยังติดอยู่ ส่งผลให้การทำกิจวัตรประจำวันเป็นไปได้ยากขึ้น
Thawing stage ระยะนี้ข้อไหลจะมีอาการติดขัดลดลง ถ้าเกิดว่าได้รับการทำกายภาพร่วมด้วยอาการจะดีขึ้นอย่างรวดเร็วระยะนี้จะมีระยะเวลาอยู่ที่ 6เดือนถึง 2 ปี แล้วแต่ว่าผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ถูกต้องหรือไม่
ในกรณีที่เป็นโรคข้อไหล่ติดนี้อาการของตัวโรคจะยาวนานเป็นปีเลยครับ การรักษาสามารถทำได้โดย การรับประทานยา, การฉีดยาที่ตำแหน่งข้อไหล่ภายใต้เครื่องอัลตราซาวด์ หรือการทำกายภาพบำบัด จะทำให้ระยะเวลาของการเป็นโรคลดลงอย่างมากครับ


ในบางครั้ง พบว่าผู้ป่วยมีข้อติดและปวดมาก ซึ่งมักจะพบในระยะที่สอง (Frozen stage) จะมีทางเลือก ในการรักษา เพิ่มขึ้นมาคือ
การฉีดยาและดัดข้อไหล่
การผ่าตัดส่องกล้องเพื่อตัดพังผืดและลดการตึงตัวของ เนื้อเยื่อที่หุ้มข้อใหญ่
หากว่าผู้ป่วยเริ่มมีอาการไหล่ติดหรือปวดข้อไหล่ ได้รับการวินิจฉัย และได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ย่อมจะสามารถลดระยะเวลาในการเป็นโรคข้อไหล่ติดลงได้อย่างมากนั่นเอง


บทความโดย นพ.เกรียงศักดิ์ เล็กเครือสุวรรณ แพทย์เฉพาะทางคลินิกระงับปวด และผ่าตัด ข้อสะโพก ข้อเข่า ข้อไหล่ โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล (WMC)